คำพิพากษาฎีกาที่4301/2534 |
|
บริษัท ต้าฉิ้ง จำกัด | โจทก์ |
กรมศุลกากร | จำเลย |
เรื่อง รับบัตรส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งภายในประเทศ |
|
กฎหมายที่เกี่ยวข้องพ.ร.บ. ศุลกากรฯ ผู้นำเข้า ความรับผิดต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้า การนำเข้า | |
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2531 โจทก์สั่งซื้อถ่านกรองซึ่งมีแหล่งกำเนิดที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 22,000 กิโลกรัม ตามราคาซี.ไอ.เอฟ. เป็นเงิน 15,180 เหรียญสหรัฐอเมริกา ผู้ขายได้ส่งสินค้ามาทางเรือโจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ราคาตรวจสอบวิเคราะห์สินค้าของโจทก์ก่อนที่เรือบรรทุกสินค้าจะถึงท่าเรือกรุงเทพแต่เจ้าหน้าที่ได้ผ่อนผันการวิเคราะห์ วันที่ 17 กรกฎาคม 2531 เรือบรรทุกสินค้าเดินทางเข้ามาที่ท่าเรือกรุงเทพ โจทก์จึงชำระค่าอากรขาเข้า ค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงิน 85,654 บาท ไปก่อนที่เจ้าพนักงานศุลกากรจะตรวจปล่อยสินค้าให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2531 เกิดไฟไหม้เรือบรรทุกสินค้าและไหม้สินค้าของโจทก์ไปทั้งหมด การชำระภาษีจะกระทำต่อเมื่อสินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักรและไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับยกเว้นภาษี การที่สินค้าของโจทก์เสียหายไปก่อนที่จำเลยจะตรวจปล่อยและส่งมอบให้โจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องชำระค่าภาษีทั้งหมดแก่จำเลยตามเจตนารมณ์ของกฎหมายศุลกากรซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนจำเลยต้องคืนเงินภาษีจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ยอมคืนจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระค่าภาษีไปจนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 6,723.25 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 92,377.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 85,654 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ยอมคืนเงินค่าภาษีอากรให้โจทก์ เพราะความรับผิดในอันที่จะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำเข้าสำเร็จโจทก์นำเข้าสำเร็จเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2531 แม้สินค้าถูกไฟไหม้ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2531 โจทก์ต้องชำระค่าภาษีอากร การตรวจปล่อยสินค้าเป็นขั้นตอนหลังจากเสียภาษีแล้ว อีกทั้งโจทก์สามารถยื่นให้ตรวจปล่อยสินค้าได้ทันทีที่ชำระภาษี แต่โจทก์ปล่อยเวลาให้เนิ่นนานมาจนสินค้าถูกไฟไหม้ ทั้งการที่ไฟไหม้ดังกล่าวมิใช่อุบัติเหตุอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้จึงไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 โจทก์จึงขอคืนภาษีไม่ได้ นอกจากนี้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 78 จัตวา, 78 เบญจ (1), 79 (6) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2517 ก็ให้ถือว่าสินค้าที่นำเข้ามีรายรับเกิดขึ้นตั้งแต่วันชำระอากรและสินค้าดังกล่าวมิได้อยู่ในเงื่อนไขของมาตรา 79 ตรี (15) ที่จะได้รับยกเว้นมิให้นำรายรับที่เกิดขึ้นมาคำนวณเสียภาษีการค้า จำเลยจึงไม่ต้องคืนค่าภาษีทั้งหมดแก่โจทก์ และไม่ต้องเสียดอกเบี้ยโจทก์ทราบถึงสิทธิการเรียกคืนภาษี ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2531 แต่เพิ่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2532 เกิน 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ได้ความตามที่โจทก์จำเลยมิได้โต้เถียงกันว่า โจทก์ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยทางเรือชื่อลี่เฮียง เรือลี่เฮียงเข้ามาในเขตท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2531 ท่าเรือกรุงเทพเป็นท่าเรือมีชื่อส่งของถึงและจะจ่ายของจากเรือ โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 และชำระค่าภาษีอากรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยในวันเดียวกัน แต่โจทก์ยังไม่ได้รับการตรวจปล่อยสินค้าไป วันที่ 19 กรกฎาคม 2531 เกิดไฟไหม้เรือลี่เฮียง สินค้าของโจทก์ซึ่งอยู่บนเรือถูกไฟไหม้หมด โจทก์ขอรับค่าภาษีอากรคืนจากจำเลย จำเลยไม่ยอมคืนให้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าภาษีอากรพร้อมดอกเบี้ยคืนจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่าสำหรับค่าอากรขาเข้านั้นพระราช-บัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคแรก บัญญัติว่า ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ และมาตรา 41 บัญญัติว่า ถ้ามีความจำเป็นด้วยประการใด เกี่ยวด้วยการศุลกากรที่จะกำหนดเวลาเป็นแน่นอนว่า การนำของใด เข้ามาจะพึงถือว่าเป็นอันสำเร็จไรไร้ ท่านให้ถือว่าการนำของเข้ามาเป็นอันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งนำของเช่นนั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะถ่ายขอจากเรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเรือลี่เฮียงนำของที่โจทก์สั่งซื้อเข้ามาในเขตท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2531 ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีชื่อส่งของถึงและจะถ่ายของจากเรือ ดังนั้นความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีสำหรับขอที่โจทก์นำเข้าจึงเกิดขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม 2531เมื่อโจทก์ชำระค่าอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้าสำเร็จแล้วยังไม่ได้รับการตรวจปล่อยของไป ของนั้นได้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดขณะที่อยู่บนเรือลี่เฮียงก็ไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าอากรเข้าที่ได้ชำระไปแล้วคืนได้ ส่วนค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลนั้นประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 7) เรื่อง กำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการค้าและชำระภาษีการค้าของผู้นำเข้าและผู้ส่งอกประกาศ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2513 ข้อ 2 กำหนดให้ผู้นำเข้ายื่นแบบแสดงรายการค้าพร้อมกับการยืนใบขนสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และชำระภาษีในวันนำเข้าและประมวลรัษฎากร มาตรา 78 เบญจบัญญัติว่า เพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บและชำระภาษีตามหมวดนี้ (1) วันนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าตามาตรา 78 ตรี และมาตรา 78 จัตวา หมาความว่าวันที่ชำระอากรขาเข้า... พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคแรก บัญญัติว่า ... การเสียภาษีให้เสียแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ชำระค่าอากรขาเข้าแก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 วันดังกล่าวจึงเป็นวันนำเข้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 เบญจ (1) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยไปในวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 จึงเป็นการชำระที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว แม้ของที่โจทก์นำเข้านั้นจะถูกไฟไหม้เสียหายหมดขณะที่อยู่บนเรือ ซึ่งโจทก์ยังไม่ได้รับการตรวจปล่อยของดังกล่าวไป ก็ไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ได้ชำระไปแล้วคืน ดังนั้น การที่จำเลยไม่คืนค่าภาษีอากรแก่โจทก์จึงชอบแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าการนำเข้าจะสำเร็จต่อเมื่อมีการส่งมอบของที่นำเข้าไปโดยถูกต้องพ้นจากความอารักขาของพนักงานศุลกากรแล้ว โดยอ้างความในมาตรา 2 วรรคสิบเอ็ดที่ว่า ผู้นำของเข้า หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองหรือมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากรนั้นเห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงบทนิยามของคำว่าผู้นำเข้าหาใช่บทนิยามของคำว่านำเข้าสำเร็จไม่..." พิพากษายืน (สุนพ กีรติยุติ - ก้าน อันนานนท์ - ประจักษ์ พุทธิสมบัติ) |