เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่484/2534

 

นายเฉลียว หงวนศิริ

โจทก์

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด กับพวก

จำเลย

เรื่อง สัญญาเพื่อบุคคลภายนอก

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องแพ่ง สัญญาเพื่อบุคคลภายนอก (มาตรา 374) วิธีพิจารณาความแพ่ง บรรยายฟ้อง
กำหนดประเด็น ต้องห้ามฎีกา (มาตรา 172, 183, 249)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2518 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3353 กับคุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู โดยโจทก์ตกลงซื้อที่ดินดังกล่าวบางส่วน เนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวา ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนสุขาภิบาล 1 ในราคา 80,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่คุณหญิงบุญเลื่อน ในวันทำสัญญาแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่าเมื่อแบ่งแยกที่ดินตัดถนนสุขาภิบาล 1 ออกแล้ว ด้านตะวันตกมีเนื้อที่เท่าใดก็จะโอนให้โจทก์เท่านั้น โจทก์ได้เข้าครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของที่ดินด้วยความสงบ เปิดเผยมาจนปัจจุบันเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2524 คุณหญิงบุญเลื่อนได้นำโฉนดเลขที่ 3353 ดังกล่าวพร้อมที่ดินแปลงอื่นไปจำนองกับจำเลยทั้งสี่ และได้ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยทั้งสี่ว่า จะนำที่ดินโฉนดเลขที่ 3353 พร้อมกับที่ดินแปลงอื่นๆ ชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสี่ตามสัญญาจำนองยกเว้นที่ดินโฉนดเลขที่ 3353 ฝั่งตะวันตกของถนนสุขาภิบาล 1 ไว้ จำเลยทั้งสี่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์โดยไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ และจำเลยทั้งสี่จะต้องเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการโอนและค่าภาษีทั้งสิ้น เมื่อจำเลยทั้งสี่ได้รับโอนที่ดินดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3353 ให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสี่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3353 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน โดยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันออกค่าฤชาธรรมเนียมในการโอนที่ดิน ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันจะพึงมีด้วย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับคุณหญิงบุญเลื่อนมิได้จัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงย่อมตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 และจำเลยอื่น ๆ ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากคุณหญิงบุญเลื่อน เพื่อใช้หนี้และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว โจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวก็เป็นเพียงการครอบครองแทนคุณหญิงบุญเลื่อน โจทก์จึงไม่ได้สิทธิตามกฎหมาย ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับคุณหญิงบุญเลื่อนดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยตกลงให้ที่ดินแก่โจทก์โดยเสน่หา เมื่อไม่ได้ไปจดทะเบียนการให้ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย

จำเลยที่ 2 ให้การว่า สัญญาจะซื้อขายยังไม่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่อาจได้กรรมสิทธิ์จากการครอบครองที่ดินพิพาท เพราะเป็นการครอบครองแทนผู้จะขายและยังไม่ถึง 10 ปี โจทก์ไม่เคยแสดงเจตนาให้จำเลยที่ 2 เห็นว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน

จำเลยที่ 3 ให้การว่า ที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตลอดมานั้นไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่เคยติดต่อขอโอนที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 3 แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทเกินกว่า 10 ปี สิทธิของโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียน ก็ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต

จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต โจทก์ไม่อาจได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3353 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพ-มหานคร แก่โจทก์พร้อมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ โดยจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการโอน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทั้งค่าภาษี และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทั้งสี่กับพลเรือโทโกเมท เครือตราชุ คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู นางพรรณทิพย์ หงส์ประภาส และนายจุฑาเกียรติ เครือตราชู ได้ทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ข้อ 10 ว่าฝ่ายจำเลยทั้งสี่ยินยอมให้ฝ่ายคุณหญิงบุญเลื่อนกับพวกไปดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ระบายสีเหลืองตามแผนที่ท้ายบันทึกข้อตกลงออกเป็นถนนสุขาภิบาล 1 ให้เป็นที่เรียบร้อย และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่ระบายสีแดง ซึ่งมีเนื้อที่ ประมาณ 10 ตารางวา ให้แก่โจทก์ตามพันธกรณีที่ฝ่ายคุณหญิงบุญเลื่อน มีอยู่ต่อโจทก์แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่ระบายสีแดง (โฉนดที่ดินเลขที่ 3353 ) ให้แก่โจทก์โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้

ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องในประเด็นการครอบครองปรปักษ์และประเด็นเรื่องผิดสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาในเวลาเดียวกันจึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่21 พฤษภาคม 2518 โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3353 กับคุณหญิงบุญเลื่อน โดยโจทก์ตกลงซื้อที่ดินเฉพาะส่วนที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนสุขาภิบาล 1 เนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวา ในราคา 8,000 บาท โจทก์ได้ชำระราคาที่ดินครบถ้วนในวันทำสัญญาแล้ว คุณหญิงบุญเลื่อนได้รับมอบการครอบครองที่ดินตั้งแต่วันทำสัญญา โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวด้วยความสงบ และเปิดเผยตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า10 ปี แล้วต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2527 คุณหญิงบุญเลื่อนกับพวกได้ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยทั้งสี่ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ข้อ 10 โดยจำเลยทั้งสี่ยอมให้ฝ่ายคุณหญิงบุญเลื่อนกับพวกไปดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนที่เป็นถนนสุขาภิบาล 1 ออกไป และจำเลยทั้งสี่ยินยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่ระบายสีแดงให้แก่โจทก์ เมื่อแบ่งแยกที่ดินแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่ระบายสีแดงให้แก่โจทก์ เห็นว่าตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าว โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทประการหนึ่ง และโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ที่ไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ตามบันทึกข้อตกลง เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ข้อ 10 อีกประการหนึ่งจริง แต่การบรรยายฟ้องดังกล่าวก็แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นคำฟ้องที่ไปด้วยกันได้ ไม่ขัดกัน และไม่เคลือบคลุมแต่อย่างใด...

ข้อที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาต่อมาว่า จำเลยที่ 3 ไม่ทราบและไม่รับรองว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับคุณหญิงบุญเลื่อนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 หรือไม่ เอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาเอกสาร ต้นฉบับไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่ระบายสีแดงให้แก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงของจำเลยทั้งสี่กับคุณหญิงบุญเลื่อน เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ข้อ 10 เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกใช้สิทธิถือเอาประโยชน์จากสัญญาระหว่างจำเลยทั้งสี่กับคุณหญิงบุญเลื่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372 วรรคสอง หาใช่โจทก์ฟ้องให้บังคับตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินไม่ ฉะนั้นสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับคุณหญิงบุญเลื่อนจะมีหรือไม่ และต้นฉบับจะปิดอากรแสตมป์หรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อสำคัญของคดี และเป็นเรื่องนอกประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ข้อ 10 เป็นนิติกรรมที่จำเลยทั้งสี่ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดนเสน่หา แต่นิติกรรมดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัญหาข้อนี้ ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นไว้ และจำเลยไม่ได้โต้แย้งถือว่าจำเลยที่ 1 ได้สละประเด็นนี้แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้..."

พิพากษายืน

(สุเทพ กิจสวัสดิ์ - ถาวร ตันตราภรณ์ - ประศาสน์ ธำรงกาญจน์)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 31-01-2021