คำพิพากษาฎีกาที่396/2534 |
|
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค | โจทก์ |
นายชาติชาย ทิพยนันท์ กับพวก | จำเลย |
เรื่อง อายุความ |
|
กฎหมายที่เกี่ยวข้องแพ่ง อายุความละเมิด ผู้ค้ำประกันยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ (มาตรา 448, 694) | |
โจทก์ฟ้องว่า นายสำเริง เอี่ยมประเสริฐ สมัครเข้าทำงานเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ว่า หากนายสำเริงซึ่งทำงานอยู่กับโจทก์ ทำความเสียหายต่อโจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยทั้งสองยอมชดใช้ค่าเสียหายแทนนายสำเริง โดยโจทก์ไม่ต้องเรียกร้องให้นายสำเริงชำระหนี้ก่อน นายสำเริงได้ทุจริตนำเงินสดซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวไม่นำเงินเข้าบัญชีของโจทก์ โจทก์ทวงถามนายสำเริงแล้ว นายสำเริงเพิกเฉย โจทก์จึงทวงถามจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมให้ชดใช้ความเสียหาย จำเลยทั้งสองขอผ่อนชำระ โจทก์ไม่ยอมจึงฟ้อง ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 559,444.19 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอม นายสำเริงไม่เคยทำละเมิดใด ๆ ต่อโจทก์ให้โจทก์เสียหาย โจทก์ไม่ได้ฟ้องตามหนังสือรับสภาพหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดภายใน 1 ปี คดีจึงขาดอายุความจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม มิได้แสดงโดยแจ้งชัดว่านายสำเริงยักยอกเงินไปตั้งแต่เมื่อไหร่ จำนวนกี่ครั้ง แต่ละครั้งจำนวนเท่าไรคณะกรรมการสอบสวนได้รายงานให้โจทก์ทราบเมื่อไหร่ เช็คที่นายสำเริงเก็บมานั้นเป็นเช็คธนาคารอะไร จำนวนเงินเท่าไร เรียกเก็บเงินได้ทั้งหมดหรือไม่ ทำให้จำเลยเสียเปรียบต่อสู้คดีไม่ถูก จำเลยทั้งสองขอชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระ จำเลยทั้งสองจึงหลุดพ้นจากความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 550,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5 ปิดอากรแสตมป์เพียง 1 บาท ไม่ชอบเพราะตามกฎหมายกำหนดให้ปิดอากรแสตมป์ 10 บาท จึงต้องห้ามรับฟังเอกสารดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 นั้น เห็นว่า สัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5ทำเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2522 ซึ่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กำหนดให้ปิดอากรแสตมป์เพียง 1 บาท หาใช่ 10 บาท ดังที่จำเลยทั้งสองเข้าใจไม่ สัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5 จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อสุดท้ายว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ถึงตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 7 มีนาคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่8 กรกฎาคม 2528 คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยแสดงสภาพแห่งข้อหาว่านายสำเริงพนักงานของโจทก์ได้กระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นเงิน 322,928.16 บาทแล้วได้หลบหนีไป โจทก์ได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภออรัญประเทศเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2527 เพื่อให้จับนายสำเริงมาดำเนินคดีตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีท้ายฟ้อง นอกจากนี้คณะกรรมการสอบสวนยังตรวจพบว่านายสำเริงได้ทุจริตนำเงินสดของโจทก์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของนายสำเริงไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวอีก 236,516.03 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นที่นายสำเริงทุจริตเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป 559,444.19 บาท เป็นการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี จึงมีอายุความที่จะต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายใน 10 ปี นับแต่วันกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) กำหนดอายุความทางอาญาจึงยาวกว่าอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ที่กำหนดไว้เพียง 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงต้องเอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง บัญญัติไว้จะนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรกมาบังคับได้ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องนายสำเริงได้ภายใน 10 ปีนับแต่วันที่นายสำเริงกระทำผิดเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปโดยสุจริต นายสำเริงได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานบัญชี มีหน้าที่เก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2527 พนักงานของโจทก์ตรวจพบว่า นายสำเริงเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต ดังนี้จึงเห็นได้ว่า ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวหาว่านายสำเริงกระทำผิดยักยอกเอาเงินของโจทก์ไปในระหว่างวันที่ 3 มีนาคม 2523 ถึง พ.ศ. 2527 เมื่อนับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2523 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2528 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันในมูลหนี้ละเมิดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่นายสำเริงก่อขึ้นแทนนายสำเริงจึงไม่ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายสำเริง ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน แต่จำเลยทั้งสองได้ยกอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448วรรคแรก ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ที่ให้สิทธิผู้ค้ำประกันยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ด้วยจึงฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน (สุนพ กีรติยุติ - เสียง ตรีวิมล - สมศักดิ์ วิธุรัติ) |