เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่136/2534

 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยเนชั่นแนลการค้า

โจทก์

กรมศุลกากร

จำเลย

เรื่อง ภาษีอากร

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องแพ่ง อายุความ (มาตรา 164) ป.รัษฎากร มาตรา 30 พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 10

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำสินค้าเข้าจากต่างประเทศตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ารวม 17 ฉบับ ซึ่งโจทก์แสดงราคาสิ้นค้าที่ซื้อมาจริงตามบัญชีราคาสินค้าที่ซื้อขายและชำระเงินส่งมอบสินค้าตามหลักฐานความเป็นจริง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าสูงกว่าที่โจทก์ซื้อเข้ามาและคำนวณให้โจทก์ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามราคาที่ประเมินเพิ่ม รวมเป็นเงิน 3,603,893.57 บาท ค่าภาษีอากรตามราคมที่โจทก์ซื้อมา รวม 2,520,548.52 บาท จำนวนเงินที่จำเลยประเมินให้โจทก์ชำระไม่ถูกต้องรวม 1,083,345.05 บาท เป็นส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลย ราคาสินค้าที่โจทก์แสดงเพื่อเสียภาษีอากร โจทก์ใช้ราคาที่ซื้อขายโดยถูกต้อง การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินให้โจทก์เพิ่มราคาและเสียภาษีอากรเพิ่มนั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะจำเลยมิได้ใช้ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นเกณฑ์ประเมินเรียกเก็บค่าภาษีอากร โจทก์มิได้ยอมให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยเพิ่มราคาชำระค่าภาษีอากรโดยสมัครใจ โจทก์ได้เสนอคำโต้แย้งต่อเจ้าหน้าที่ไว้ที่ด้านหลังใบขนสินค้าขาเข้าทุกฉบับ โจทก์ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อจำเลย ต่อมาจำเลยได้แจ้งผลอุทธรณ์ว่าราคาสินค้าที่เจ้าหน้าที่ประเมินชอบแล้ว แต่สำหรับสินค้าตามใบขนสินค้าเลขที่ 099-41641, 129-40325, 049-42020, 049-42104 และ 099-42514 ให้ยืนราคาตามที่ประเมินไว้เดิมและมีการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินใหม่ซึ่งมีผลให้คืนเงินแก่โจทก์เพียง 37 กว่าบาทเท่านั้น โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย ขอให้ศาลพิพากษาว่าการประเมินราคาสินค้าของโจทก์ไม่ชอบแล้วให้จำเลยคืนเงินที่จำเลยเรียกเก็บมิชอบแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ

จำเลยให้การว่า การประเมินราคาสินค้าของโจทก์ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า รวม 17 ฉบับ ซึ่งโจทก์ยินยอมเพิ่มราคาสินค้าการชำระค่าภาษีอากรชอบด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยที่โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าโดยสำแดงรายละเอียดของสินค้า ประเทศกำเนิดสินค้า ราคาของ ประเภทพิกัดต่ำกว่าราคาประเมินอันเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โจทก์จึงเพิ่มราคาสินค้าตามราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นเกณฑ์ในการประเมินโดยใจสมัครของโจทก์เองทั้งสิ้น นอกจากนี้ใบขนสินค้าฯ เลขที่ 049-42020, 049-42104, 069-41440,099-41641 และ 099-42541 โจทก์นำเข้านับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ส่วนใบขนสิ้นค้าเลขที่ 069-41440, 099-41641, 099-42541, 029-40325 โจทก์ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์โดยชอบ เมือวันที่ 13 มิถุนายน 2531 และ 2 กันยายน 2531 โจทก์ไม่นำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน ประเด็นเกี่ยวกับภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับใบขนสินค้าฯเลขที่ 049-42020, 049-42104, 030-41178, 030-42118, 040-42382, 050-41887, 060-41477,070-40234, 100-43156, 110-43134, 021-41696, 021-41695 และ 201-43482 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยไว้แล้วยังอยู่ระหว่างพิจารณา โจทก์นำมาฟ้องจึงเป็นการข้ามขั้นตอน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นเกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล สินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 049-42020, 049-42104, 069-41440, 099-41641 และ099-42541 ขาดอายุความ ส่วนใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า 12 ใบขน จำเลยเรียกเก็บอากรเกิน ให้จำเลยคืนเงินเฉพาะอากรขาเข้าที่เกิน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระแก่โจทก์เสร็จ คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 เมษายน 2529 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์ได้สั่งซื้อกระสุนปืนชนิดและประเภทขนาดต่าง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 17 เที่ยว ด้วยกัน ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 049-42020, 049-42104, 069-41440, 099-41641, 099-42541, 129-40325, 030-41178, 030-42118, 040-42382, 050-41887, 060-41477, 070-40234, 100-43156,110-43134, 021-416969, 021-41695 และ 021-43482 โดยเฉพาะใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 049-42020, 049-42104 นำเข้าในวันที่ 21 เมษายน 2529 เลขที่ 069-41440 นำเข้าในวันที่ 13 มิถุนายน 2529 เลขที่ 099-41641 นำเข้าในวันที่ 16 กันยายน2529 และ 099-42541 นำเข้าในวันที่ 30 กันยายน 2529 เมื่อโจทก์ยื่นเอกสารพร้อมกับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเพื่อปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร ปรากฏว่าสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจราคา จึงสั่งให้โจทก์เพิ่มราคาสินค้าทุกใบขน เมื่อเพิ่มราคาแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงได้ประเมินราคาให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มขึ้น โจทก์ได้ยอมเสียภาษีอากรเพิ่มขึ้น และได้ขอสงวนสิทธิโต้แย้งราคาไว้ในด้านหลังใบขน ต่อมาโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อกองวิเคราะห์ราคาของจำเลยทั้งอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล โดยมิได้อุทธรณ์การประเมินภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร

ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกคืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์สำแดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีอากร พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องจึงให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่ม ซึ่งมีทั้งอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลแยกกันอยู่ชัดเจน กรณีเช่นนี้ถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากรแล้ว หากโจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องอย่างไรชอบที่จะอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 30 เสียก่อนเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน แม้การเรียกเก็บภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งต่อเนื่องเชื่อมโยงกับการเรียกเก็บภาษีอากรขาเข้า ก็ไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนให้อุทธรณ์การประเมินต่อกรมศุลกากรแทนได้ ทั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ เป็นหน่วยงานที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ต่างหาก การที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อกองวิเคราะห์ราคาของจำเลย ถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง"

อุทธรณ์ข้อต่อไปเกี่ยวกับอายุความ "ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เลขที่ 049-42020, 049-42104, 069-41440, 099-41641 และ 099-42541 ทั้ง 5 ใบขนนี้โจทก์ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2529 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2531 นับเป็นเวลาเกิน 2 ปี การที่นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีอำนาจตรวจสอบภาษี ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องก็อาจสั่งให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มเติม เมื่อโจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มเติมโดยมีข้อคัดค้านก็ตาม ถ้าเห็นว่าไม่ควรจะเสียภาษีอากรเพิ่มเติมก็ต้องร้องขอคืนเงินอากรที่เสียเพิ่มเติมตามมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 ซึ่งกำหนดให้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุที่เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง เป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปี นับแต่วันที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักร สินค้าโจทก์ทั้ง 5 ใบขน นำเข้ามาเกิน2 ปี จึงขาดอายุความ ซึ่งกฎหมายที่กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะแล้ว มิใช่มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามอุทธรณ์โจทก์ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

(ก้าน อันนานนท์ - ตัน เวทไว - ประจักษ์ พุทธิสมบัติ)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 31-01-2021