เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1642/08 
นายชารลส์ อี. ครูเทอร์โจทก์
บจ. ฟาร์อิสต์โฮเต็ล จำกัด ที่ 1จำเลย
นางสุนีหรือสุนีรัตน์ เตลาน ที่ 2 
เรื่อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 
กฎหมายที่เกี่ยวข้องนิติกรรม,สำคัญผิด,สัญญา,ตีความ,แจ้งแรงงาน,ไล่ลูกจ้าง,อำนาจฟ้องพยาน,
ภารการพิสูจน์,คำให้การ,ข้อที่ไม่ได้ว่ากันในศาลล่าง,ประมวลรัษฎากร
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 บัญญัติให้ นายจ้างมีสิทธิไล่ลูกจ้างออกได้ในเมื่อมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดใน 5 ประการ จำเลยไม่ได้ต่อสู้ว่า โจทก์จงใจขัดคำสั่งของนายจ้างตามเหตุที่บัญญัติไว้ หรือ โจทก์ละทิ้งการงานไป สำหรับในข้อที่ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเป็น อาจิณ แต่จำเลยมิได้ระบุรายละเอียดให้โจทก์ได้ทราบเลยว่าโจทก์ละเลย คำสั่งใดของจำเลย ข้ออ้างของจำเลยในข้อนี้เคลือบคลุม ไม่เป็นประเด็น ในคดี สำหรับในข้อที่ว่าลูกจ้างทำประการอื่นอันไม่เหมาะสมแก่หน้าที่นั้น ตามกฎหมายบัญญัติไว้มีคำว่าสุจริตอยู่ด้วย เมื่อประกอบกับข้อความตอนต้น ของเหตุในข้อนี้แล้ว มีความหมายว่าทำโดยไม่สุจริตแต่ตามคำให้การ ของจำเลยไม่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทำโดยไม่สุจริต จึงไม่มีประเด็นในข้อนี้
โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยในฐานะผู้จัดการโรงแรม จำเลยกำหนด เวลาเปลี่ยนเวรยามของคนงานในโรงแรมในเวลา 4.00 น. ย่อมเป็นการ ยากแก่คนงานที่จะปฏิบัติกระทำได้ จำเลยจึงต้องเปลี่ยนเป็นเวลา 7.00 - 8.00 น. โจทก์สั่งคนงานทำความสะอาดส้วม โดยให้ใช้ผ้าพันมือ ล้วงลงไปในส้วม คนงานก็ไม่อาจทำได้ ดังนี้เป็นเพียงแสดงว่าโจทก์วาง ระเบียบงานหรือสั่งงานไม่เหมาะสม ไม่ถึงกับการกระทำผิดอย่างร้ายแรง การที่โจทก์วางระเบียบงานไว้ยุ่งยากมาก แต่เป็นระเบียบงานที่ดีมาก ไม่ แสดงว่าโจทก์กระทำผิดข้อที่ว่าโจทก์มิได้จัดให้มีประกาศปิดไว้หน้าห้อง เพื่อให้แขกทราบว่าห้องใดจะต้องแต่งกายสวมเสื้อนอก ผูกเน็คไททำให้แขก เข้าห้องอาหารผิดระเบียบ จนแขกเข้าห้องผิดถูกเชิญออกไปก็มีดังนี้ ไม่ถึงกับ เป็นเรื่องร้าย ข้อที่โจทก์ออกแบบฟอร์มเกี่ยวกับบัญชีของโรงแรมโดยใช้ฟอร์ม ต่างประเทศไม่มีภาษาไทยกำกับเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมาตรวจสอบจึงใช้ไม่ได้ เมื่อมีผู้ขอเปลี่ยนรูปบัญชีและ อื่น ๆ เพื่อให้เข้ากับประมวลรัษฎากร โจทก์ก็ไม่ยอมเกิดโต้เถียงกัน ในที่สุด โจทก์ยอมแก้ไขบางอย่างให้เป็นไปตามที่มีผู้ทักท้วง ดังนี้ ไม่แสดงว่าเป็นการ ผิดร้ายแรง ส่วนเรื่องใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ให้ทำนั้นมี 2 ท่อน ๆ หนึ่งให้ ผู้ชำระเงินไป มีรายการต่าง ๆ ส่วนอีกท่อนหนึ่งเป็นทำนองต้นขั้ว ไม่มี รายการ คงมีแต่ยอดเงิน วิธีการของโจทก์ เจ้าหน้าที่สรรพากรสอบได้ แต่ ไม่สะดวก การลงบัญชีก็ลงได้ แต่ไม่สะดวก ดังนี้ ไม่แสดงว่าโจทก์กระทำผิด
ตามประมวลรัษฎากร แม้จะบัญญัติให้นายจ้างหักเงินภาษีของลูกจ้าง และให้นายจ้างต้องรับผิดในเงินภาษีที่มิได้หักไว้จริง แต่ก็มิได้มีบทบัญญัติให้ นายจ้างมีสิทธิเรียกร้องภาษีจากลูกจ้างในกรณีที่มิได้หักภาษีไว้ และบัญญัติให้ ลูกจ้างหลุดพ้นความรับผิดในการชำระภาษีเงินได้ เฉพาะแต่กรณีที่นายจ้างหัก เงินภาษีไว้แล้ว มิได้ให้สิทธินายจ้างฟ้องเรียกเงินภาษีที่มิได้หักไว้ นายจ้าง จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินภาษีที่ยังมิได้หักจากลูกจ้าง
สัญญาระบุเพียงว่า ถ้าจำเลยเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดต้องจ่าย 4,200 เหรียญนั้น ในสัญญาย่อมมีความหมายว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาก่อนสัญญาหมด อายุ เฉพาะในกรณีที่โจทก์ได้ประพฤติผิดสัญญาและผิดกฎหมายเท่านั้น เมื่อ ระบุจำนวนเงินไว้ในสัญญาแล้ว โจทก์ก็ไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบถึงจำนวนค่าเสีย หายอันแท้จริง
ข้อที่ว่าการทำสัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 มี วัตถุประสงค์และแสดงเจตนาสำคัญผิด ในสิ่งซึ่งเป็นการสำคัญแห่งนิติกรรมอัน เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 หรือสำคัญผิดใน คุณสมบัติของบุคคล หรือได้มาเพราะการแสดงเจตนาโดยกลฉ้อฉลอันเป็น โมฆียะ ตามมาตรา 120, 121,122, 124 จำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ใน คำให้การ จำเลยจึงยกขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาไม่ได้
จำเลยให้การว่าโจทก์ได้รับรองโดยแสดงออกชัด หรือโดยปริยายว่าตน เป็นผู้มีฝีมือพิเศษ คือ มีความรู้ความชำนาญในกิจการโรงแรม ทั้งมีคุณสมบัติ เรียบร้อยที่จะเป็นผู้จัดการโรงแรม จำเลยหาได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ได้แสดง การรับรองว่าโจทก์มีความชำนาญงานด้านโรงแรมเป็นอย่างดี ดังที่จำเลย กล่าวในฎีกาไม่ คำชี้แจงข้อฎีกาดังกล่าวจึงนอกประเด็น
ข้อฎีกาของจำเลยมิได้ระบุว่า โจทก์ปฏิบัติงานผิดวัตถุประสงค์ในสัญญา อย่างไรและว่ามีคุณสมบัติบกพร่องไม่เหมาะแก่ตำแหน่งผู้จัดการ ก็ไม่ได้กล่าว ว่าไม่เหมาะสมอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่มิได้กล่าวให้ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับ วินิจฉัย
สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยระบุถึงค่าโดยสาร และค่าขนส่งสัมภาระของ โจทก์ไว้โดยระบุว่าจำเลยจะต้องออกค่าโดยสารของโจทก์ในการเดินทางมา กรุงเทพฯ และเดินทางกลับประเทศสวิสเซอร์แลนด์ส่วนค่าขนส่งสัมภาระของ โจทก์ระบุไว้เฉพาะค่าขนส่งมากรุงเทพฯ มิได้ระบุถึงค่าขนส่งสวิสเซอร์แลนด์ ทำนองเดียวกับค่าโดยสาร จึงแสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงยอมเสียค่าโดยสาร และค่าขนส่งสัมภาระตามสัญญาที่ระบุไว้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขนส่ง ของใช้ส่วนตัว และรถยนต์กลับประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีก
จำเลยบอกเลิกสัญญา โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทำผิดอันจะเป็นเหตุให้ จำเลยบอกเลิกสัญญาได้เพราะโจทก์ทำผิด ในการบอกเลิกสัญญาจำเลยอ้าง เหตุว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง หย่อนสมรรถภาพและมีความประพฤติไม่ เหมาะสม เป็นที่เสียหายแก่กิจการโรงแรงของจำเลย จำเลยไม่ย่อมจ่าย เงินต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตลอดทั้งค่าเดินทางกลับ ในการจ้าง โจทก์มาเป็นผู้จัดการโรงแรมของจำเลย จำเลยออกค่าที่พัก ค่าอาหารและ ค่าซักรีดให้แก่โจทก์ดังนี้ กรณีมีเหตุจำเป็นที่โจทก์จะต้องอยู่เพื่อขอรับเงินจาก จำเลย และดำเนินการขจัดปัดเป่าความเสียหายแก่ชื่อเสียงและอาชีพของ โจทก์ที่เกิดจากการกระทำของฝ่ายจำเลย เมื่อประกอบกับพฤติการณ์ในคดี แล้ว เห็นว่าค่าใช้จ่ายในข้อนี้นับว่าเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยต่อโจทก์ จำเลยต้องรับผิด
 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 02-01-2021