คำพิพากษาฎีกาที่ 2231-2234/2532 | |
บริษัท สหพนาสิทธิ์ จำกัด | โจทก์ |
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ | จำเลย |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ, 65 ตรี, 79, 79 จัตวา พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 54) มาตรา 6 | |
เมื่อโจทก์ใช้ระบบเกณฑ์สิทธิในการทำบัญชี โจทก์จำต้องใช้ระบบดังกล่าวโดยตลอด ในการที่โจทก์สั่งซื้อสินค้าโจทก์ลงบัญชีโดยใช้ระบบเกณฑ์สิทธิ แต่ในการขายสินค้าโจทก์กลับใช้ระบบเงินสดเช่นนี้ ทำให้รายจ่ายมากแต่รายรับมีน้อยเป็นการไม่ถูกต้อง รายจ่ายเกี่ยวกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่โจทก์มิได้ลงบัญชีรายจ่ายไว้เนื่องจากหลักฐานเอกสารหายไป เพราะโจทก์ระบุให้ผู้ขายน้ำมันส่งน้ำมันไปยังหน่วยงานต่างๆ ของโจทก์และผู้ขายน้ำมันจะนำใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันส่งมอบให้แก่หน่วยงานนั้นๆ เมื่อหน่วยงานดังกล่าวไม่ได้นำส่งหลักฐานที่ได้รับมาไว้ยังบริษัทโจทก์ แสดงว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่โจทก์เอง เมื่อโจทก์ไม่สามารถหาหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่ขาดหายไปนั้นมาแสดงต่อศาลได้ โจทก์จะนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ ราคาไม้แปรรูปควรจะต้องสูงกว่าราคาไม้ท่อนเพราะต้องรวมราคาค่าจ้างแปรรูปไม้เข้าไว้ด้วย โจทก์ตีราคาไม้แปรรูปไว้ลูกบาศก์เมตรละ 80 บาท ไม้ท่อนลูกบาศก์เมตร 900 บาท การที่เจ้าพนักงานประเมินตีราคาไม้แปรรูปลูกบาศก์เมตรละ 1,300 บาท โดยคิดจากราคาไม้ท่อนลูกบาศก์เมตรละ 900 บาท รวมกับค่าจ้างเลื่อยลูกบาศก์เมตรละ 400 บาท จึงชอบด้วยเหตุผล โจทก์ประกอบการค้าเลื่อยไม้และโม่หินขาย ตามสัญญาที่โจทก์ทำกับลูกค้าระบุว่าโจทก์เป็นผู้ขายหรือผู้รับจ้างโดยโจทก์จะต้องนำสินค้าคือไม้และหินไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้ว่าจ้างเมื่อในสัญญาไม่ปรากฏว่ามีการแยกเรื่องขนส่งไว้ทั้งไม่อาจแยกได้ว่าเป็นราคาซื้อขายหรือ ราคาค่าจ้าง จึงเป็นลักษณะของสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจ้างทำของแล้วแต่กรณีโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องส่งของให้แก่คู่สัญญาด้วยเท่านั้น โจทก์จึงต้องนำรายรับจากการขายหรือการรับจ้างทำสินค้าดังกล่าวมาคำนวณเสียภาษีการค้าตามกฎหมายจะคิดแยกราคาสินค้าและราคาขนส่งต่างหากจากกัน โดยถือว่ารายได้จากการขนส่ง โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าไม่ได้ วัตถุพลอยได้จากการเลื่อยไม้จำพวก ขี้เลื่อยไม้ ปีกไม้และเศษไม้ โจทก์ได้ขายไปบ้าง เมื่อมีคนมาขอโจทก์ก็ให้และพนักงานของโจทก์เก็บไปเป็นประโยชน์ส่วนตนบ้าง เช่นนี้ แสดงว่าวัตถุพลอยได้ดังกล่าวมิใช่เป็นของไม่มีมูลค่าเสียทีเดียว กรณีจึงต้องด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 79 (1) (ข) ซึ่งบัญญัติให้รายรับจากการค้าประเภทโรงเลื่อยให้หมายความรวมถึงมูลค่าของ ผลิตภัณฑ์และวัตถุพลอยได้ด้วย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าจากรายรับของโจทก์โดยคำนวณรายรับรวมถึงมูลค่าของวัตถุพลอยได้ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย |