คำพิพากษาฎีกาที่ 4458/2528 | ||
เจ้าพงษ์อินทร์ ณ เชียงใหม่ | โจทก์ | |
กรมสรรพากร กับพวก | จำเลย | |
บริษัทย่อมมีวัตถุประสงค์ในทางหากำไรมาแบ่งปันกันในระหว่างผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นของบริษัท ย่อมหวังที่จะได้รับผลประโยชน์จากเงินปันผลหรือได้รับกำไรเมื่อโอนขายหุ้น หรือหวังจะได้ใช้สิทธิ จากการเป็นผู้ถือหุ้นในการควบคุมกิจการงานของบริษัท ซึ่งโดยปกติก็เป็นเรื่องของการค้าหากำไร เพราะหุ้นของบริษัทไม่ใช่ทรัพย์สินที่อาจจะได้ประโยชน์ในทางด้านใช้สอย หรือมีคุณค่าทางด้านศิลปะ หรือ มีประโยชน์ในด้านอื่นอย่างทรัพย์สินทั่วๆ ไป การได้หุ้นมาจึงถือได้ว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรรายได้จากการขายหุ้นจึงเป็นเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า หุ้นนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรโดยแท้จริง จึงจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติของมาตรา 42 (9) แห่งประมวลรัษฎากร หุ้นจำนวนแรกของโจทก์นั้นตกได้แก่โจทก์ตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทและเป็นการได้มาเนื่องจากการรับมรดก โจทก์ไม่ได้รับโอนหรือซื้อมาจากผู้ใด แม้หุ้นดังกล่าวจะไม่ใช่มรดก แต่เป็นการได้มาเนื่องจาก การแบ่งมรดกนั่นเอง จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ได้มาโดยไม่ได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากการจำหน่ายหุ้นจำนวนนี้ ตามบทบัญญัติของมาตรา 42 (9) แห่งประมวลรัษฎากร หุ้นจำนวนที่สอง โจทก์ได้รับโอนมาในภายหลังซึ่งหุ้นจำนวนนี้ไม่ใช่มรดกหรือทรัพย์สิน ของตระกูลโจทก์โดยตรง เป็นเรื่องที่โจทก์รับโอนมาจากผู้อื่น แล้วต่อมาขายหุ้นนั้นไปก็เพราะโจทก์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย จึงไม่อาจเข้ามาบริษัทบริษัทได้ต่อไป ซึ่งก็เป็นเรื่องการขายหุ้นตามปกติของธุรกิจการค้านั่นเอง จะถือว่าการขายหุ้นดังกล่าวมิใช่เพื่อการค้าหากำไร จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้หาได้ไม่ ส่วนหุ้นจำนวนที่สามโจทก์อ้างว่าเป็นหุ้นของภริยาโจทก์ และปรากฏว่าภริยาโจทก์รับโอนหุ้นดังกล่าวมาจากผู้อื่นอีกต่อหนึ่ง และไม่ปรากฏว่าภริยาโจทก์ได้หุ้นมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จึงต้อง ถือว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เมื่อมีการขายหุ้นดังกล่าว จึงต้องเสียภาษีเงินได้ โดยไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (9) และเมื่อโจทก์เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ เจ้าของหุ้น โจทก์ก็ต้องรับผิดในการชำระภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี กรณีที่จะมีการหักค่าใช้จ่ายได้จะต้องเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้จากการขายหุ้นอย่างในคดีนี้เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร ฉะนั้น การที่เจ้าหน้าที่ประเมินไม่ได้หักค่าใช้จ่ายให้โจทก์จึงเป็นการชอบแล้ว แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการ มาไต่สวนและออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่น อันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ พ้นกำหนดนี้แล้วเจ้าพนักงานประเมินจะไม่มีอำนาจออกหมายเรียกหรือคำสั่งดังกล่าวก็ตาม แต่ก็หาได้มีบทบัญญัติกำหนดว่าเจ้าพนักงานประเมินต้องทำการประเมินภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันยื่นรายการไม่ | ||