เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 3545/2528 
บริษัท ท.ฟ.ว. จำกัดโจทก์
กรมสรรพากร กับพวกจำเลย
โจทก์ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน การที่โจทก์คำนวณกำไรขาดทุนสุทธิทั้งสองกิจการรวมกันเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคลนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 บัญญัติว่า "เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้ คือ กำไรสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ ที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ฯลฯ" เห็นได้ว่าปกติกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลคือกำไรสุทธิ ที่คำนวณจากรายได้รายจ่ายจากทุกกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นๆ มิใช่แยกคำนวณเป็นรายกิจการไป บริษัทโจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ. 2505 ในกิจการผลิตอาหารบรรจุกระป๋องหรือภาชนะผนึกได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 19 (4) โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมีกำหนดห้ารอบระยะเวลาบัญชีการเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร แต่ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2516 ถึง 2518 โจทก์ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายสุรา ซึ่งมิใช่กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้วย ดังนี้ หากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนดำเนินการได้กำไรย่อมจำเป็นที่โจทก์จะต้องคำนวณกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน แยกกัน โดยแยกรายได้รายจ่ายของแต่ละกิจการ รายจ่ายรายการใดไม่สามารถแยกกันได้ชัดแจ้งก็อาจต้องเฉลี่ยกันตามส่วนแห่งรายได้เพื่อแยกกำไรสุทธิที่โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ออกไป คงเสียภาษีเงินได้เฉพาะจากกำไรสุทธิในกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่กรณีนี้โจทก์ดำเนินกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนขาดทุนทั้งสามปี ไม่มีกรณีจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ย่อมชอบที่จะคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิจากรายได้รายจ่ายของกิจการผลิตอาหารกระป๋องหรือภาชนะผนึกรวมกันไปกับกิจการ เป็นตัวแทนจำหน่ายสุราได้ดังเช่นกรณีปกติ ทั้งตามประมวลรัษฎากร และพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ. 2505 ตลอดจนประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 227 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 ซึ่งใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ. 2505 ต่อมา ก็ไม่มี บทบัญญัติบังคับให้โจทก์ต้องคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกับไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแยกกันแต่อย่างใด
ที่จำเลยอ้างมาตรา 31 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่ประกอบกิจการขาดทุนในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับ การส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้นำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้น ไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล มีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น แสดงว่าในกรณีกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนดำเนินการขาดทุนก็ต้องแยกคำนวณกำไร ขาดทุน เพื่อนำผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหักออกจากกำไรสุทธิในภายหลัง เห็นว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ออกใช้บังคับภายหลังรอบระยะเวลาบัญชีที่พิพากษากันในคดีนี้แล้ว จะนำมาปรับแก่คดีนี้มิได้ อย่างไรก็ดี บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงให้สิทธิแก่ผู้ได้รับการส่งเสริมที่ได้รับอนุญาตเช่นว่านั้น แต่มาตัดสิทธิผู้ได้รับการส่งเสริมที่จะคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิรวมกันโดยไม่นำ ผลขาดทุนไปหักออกจากกำไรสุทธิในปีหลังตามบทบัญญัติดังกล่าวอีกไม่ ดังนั้นรายจ่ายของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จึงไม่ใช่รายจ่ายอันต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13)
 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 23-01-2021