เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2646-2649/16 
ธนาคารแห่งอินโดจีน จำกัดกับพวกโจทก์
กรมสรรพากรกับพวกจำเลย
เรื่อง การดำเนินกิจการของธนาคารไทยพาณิชย์ 
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร,การธนาคารพาณิชย์
โจทก์จำเลยต่างฟ้องคดีซึ่งกันและกันหลายคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ต่อมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอคืนค่าหุ้นและแบ่งผลกำไร โดยจำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์ 250,000 บาท และโจทก์จำเลยยอมเลิกคดีที่พิพาทกันทุกคดี เงินจำนวน 250,000 บาท ที่โจทก์ได้รับเพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทในคดีที่โจทก์ฟ้องขอคืนค่าหุ้นและแบ่งกำไร อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญา ไม่ใช่ค่าสินไหมเพื่อละเมิด แม้จะมีคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยหาว่าปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เป็นส่วนช่วยให้การประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นผลสำเร็จลงได้แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เรียกเอกค่าเสียหายอะไรในคดีนั้นด้วย จะถือว่าเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดยังไม่ได้ เงินจำนวน 250,000 บาท จึงนี้ไม่เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดอันจะได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร
สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย เป็นนิติบุคคลเดียวกันกับธนาคารสำนักงานใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศแม้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 จะบังคับให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศต้องมีทรัพย์สินในประเทศไทย ให้ทำงบดุลต่างหาก ก็เป็นการบังคับไว้เพื่อให้ธนาคารดังกล่าวมีความมั่นคงในการดำเนินกิจการในประเทศไทย หาใช่รับรองให้มีสภาพบุคคลเป็นเอกเทศจากสำนักงานใหญ่ไม่
ธนาคารสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศและสาขาธนาคารในต่างประเทศส่งเงินที่รับฝากจากลูกค้ามาลงทุนในธนาคารสาขาในประเทศไทย เงินนั้นเป็นสังกมะทรัพย์ เมื่อรับฝากจากลูกค้าแล้วก็ย่อมเป็นเงินหรือทรัพย์ของธนาคารสำนักงานใหญ่หรือสาขาถือได้ว่า สำนักงานใหญ่หรือสาขานั้นเป็นผู้ส่งมาลงทุนแม้สำนักงานใหญ่ หรือสาขาในต่างประเทศมีพันธะผูกพันจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากดอกเบี้ยนั้นก็เป็นรายจ่าย โดยแท้จริงของสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ มิใช่รายจ่ายโดยตรงของธนาคารสาขาในประเทศไทย การที่ธนาคารสาขาในประเทศไทย ส่งดอกเบี้ยไปให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ จึงเป็นรายจ่ายเพื่อผ่อนภาระของสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศถือได้ว่าเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงและถือได้ว่าเป็นค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของเอง ตามมาตรา65 ตรี (9)(10)แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งตามมาตรา 65 ทวิ มิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ จึงต้องนำไปคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเรียกภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ซึ่งถือได้ว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกำไร เมื่อธนาคารสาขาในประเทศไทยส่งเงินดังกล่าวออกไปให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ ก็เท่ากับการจ่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยจึงต้องเสียภาษีได้ตามมาตรา 70 ทวิ อีกส่วนหนึ่งด้วย
 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 02-01-2021