เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 559/2546 
นายสมชัย เศรษฐสมภพโจทก์

กรมสรรพากร กับพวก

จำเลย
เรื่อง เงินได้พึงประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 19,39,40(8),57 ตรี

โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนาง น. เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2529 ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2532 นาง น. ซื้อที่ดินไว้ 2 แปลง โดยได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ประเภทการขายทั้ง 2 โฉนด แต่เป็นการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทน นาย ช. นาย ม. และนาย ว. บางส่วน ต่อมาในวันที่ 17 เมษายน 2533 นาง น. จดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้นาย ช. นาย ม. และนาย ว. เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม แม้นาง น. อ้างว่ายอมถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนเนื่องจากนาย ช. นาย ม. นาย ว. มีปัญหาการเงินยังชำระค่าซื้อที่ดินไม่ครบ กลุ่มนายหน้าจึงขอให้นางนพวรรณรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 โฉนดไว้ทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ต่างไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยของกลุ่มนายหน้าที่จะกระทำการให้ตนเองเสียเปรียบ ทั้งต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2533 นาง น. นาย ช. นาย ม. นาย ว. ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัท ก. จำกัด ก็ปรากฏว่า นาง น. เป็นคนหนึ่งที่ได้รับมอบอำนาจจาก นาย ช. นาย ม. นาย ว. ให้เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนโอนขาย จากพฤติการณ์ดังกล่าว นาง น. เป็นผู้ดำเนินการและเกี่ยวข้องกับที่ดินทั้ง 2 โฉนดมาตั้งแต่แรกจนกระทั่งขายให้แก่บริษัท ก. จำกัด นาง น. จึงเป็นผู้ซื้อหาใช่ถือกรรมสิทธิ์บางส่วนแทน นาย ช. นาย ม. นาย ว. ดังที่โจทก์อ้างไม่ การที่นาง น. จดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้นาย ช. นาย ม. นาย ว. เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมโดยได้รับค่าตอบแทนจำนวน 6,738,750 บาท ต้องถือว่าเป็นการขายตามความในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร นาง น. ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร แม้โจทก์ได้จดทะเบียนหย่ากับนาง น. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2536 แต่เงินค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นเงินได้ในปี 2533 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ยังเป็นสามีนาง น. และอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีเงินได้ดังกล่าวของนาง น. ก็ต้องถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าเงินนั้นจะเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส
โจทก์ได้ยื่นแบบรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 91) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2534 โดยไม่ได้นำเงินได้ของนาง น. ดังกล่าวมาแสดงไว้ในแบบรายการภาษีทั้ง ๆ ที่โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์ไม่ยื่นรายงานภาษีตามแบบให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจออกหมายเรียก โจทก์ก็มาไต่สวนได้ภายใน 2 ปี แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อเจ้าพนักงานออกหมายเรียกโจทก์เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2538 การออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021