คำพิพากษาฎีกาที่6647/2545 | |
บริษัท บี เจ เซอร์วิสอินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ จำกัด สาขาประเทศไทย | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้าและอากรแสตมป์ | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ มาตรา 65 ทวิ (9) กฎกระทรวง ฉบับที่ 181 (พ.ศ.2532) | |
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีสำนักงานสาขาและได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ได้ว่าจ้างบริษัท HUGHES SERVICE (FAR EAST) PTE.LTD. ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ทำงานให้ตามสัญญาให้บริการ และตามสัญญาการให้บริการด้านการบริหาร ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายส่วนเฉลี่ยตามสัดส่วนจากยอดรายได้ของบริษัทโจทก์แต่ละสาขาคูณด้วยรายจ่ายรวมของบริษัทผู้รับจ้าง แล้วหารด้วยยอดรายได้ทั้งสิ้นของบริษัทสาขาของโจทก์ในเอเชียตะวันออกไกล จึงเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นในบริษัทผู้รับจ้าง และไม่สามารถแยกได้โดยชัดเจนว่าเป็นรายจ่ายเพื่อประโยชน์แก่กิจการของโจทก์สาขาใดโดยเฉพาะเป็นจำนวนเงินเท่าใด จากเอกสารหลักฐานของโจทก์เป็นรายการจ่ายเกี่ยวกับเงินเดือน - โบนัส เงินทดแทน ค่าซ่อมบำรุงรถยนต์และอาคาร ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรและอุปกรณ์ค่าวัสดุใช้ในสำนักงาน รวมรายจ่ายอื่นๆ ของบริษัทผู้รับจ้างทั้งสิ้น ไม่ปรากฏรายจ่ายรายการใดแสดงให้เห็นว่าเป็นรายจ่ายตามสัญญาการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่กิจการของโจทก์ เพราะรายละเอียดในการทำงานตามสัญญาการให้บริการเป็นการให้บริการเกี่ยวกับการจัดหาวัสดุและเคมีภัณฑ์ต่างๆ งานบัญชี และการให้บริการด้านการเงิน จึงไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่โจทก์อ้างว่าจ่ายไปเพื่อเป็นรายจ่ายการจัดสรรของสำนักงานท้องถิ่นของบริษัทผู้รับจ้าง เมื่อพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่าบริษัทผู้รับจ้างได้ให้บริการอะไร อย่างไร เมื่อใดแก่โจทก์ ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า รายจ่ายที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทผู้รับจ้างที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นรายจ่ายตามสัญญาบริการ จึงเป็นรายจ่ายที่โจทก์กำหนดขึ้นเอง โดยไม่ใช่รายจ่ายของโจทก์ที่แท้จริง ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการของโจทก์ในประเทศโดยเฉพาะ ส่วนรายจ่ายตามสัญญาการให้บริการด้านการบริหาร ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าบริษัทผู้รับจ้างดังกล่าวให้บริการแก่โจทก์ด้านการบริหาร การตลาด บริหารบุคลากร การเงินและเงินทุนตามสัญญาการให้บริการด้านการบริหาร อย่างไร เมื่อไร ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่าบริษัทผู้รับจ้างได้ส่งเงินมาให้โจทก์ตามที่โจทก์แจ้งไปว่า โจทก์ต้องการเงินมาใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในการดำเนินการและเงินเดือนพนักงาน กรณีเป็นการผิดวิสัยและขัดแย้งกับการให้บริการตามสัญญาด้านการบริหารที่มีการตกลงทำสัญญากันไว้ ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า รายจ่ายที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทผู้รับจ้างที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นรายจ่ายตามสัญญาด้านการบริหาร จึงเป็นรายจ่ายที่โจทก์กำหนดขึ้นเอง โดยไม่ใช่รายจ่ายของโจทก์ที่แท้จริง ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการของโจทก์ในประเทศโดยเฉพาะเช่นเดียวกับสัญญาการให้บริการ ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจนำรายจ่ายตามที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้จ่ายตามสัญญาการให้บริการ และสัญญาการให้บริการด้านการบริหารดังกล่าว มาคิดคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 ตุลาคม 2532 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2533 และวันที่ 1 ตุลาคม 2533 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2534 ที่มีการตรวจสอบภาษี และในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโจทก์จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย จำนวน 17,281,451.23 บาท และจำนวน 11,998,772.85 บาท ตามลำดับ ศาลฎีกาเห็นว่า การจัดเก็บภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ให้จัดเก็บจากจำนวนกำไรที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยเพื่อประโยชน์ของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ มิใช่จัดเก็บจากกำไรสุทธิ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รายจ่ายตามสัญญาการให้บริการและรายจ่ายตามสัญญาการให้บริการด้านการบริหารเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่ใช่รายจ่ายของโจทก์ที่แท้จริง โดยโจทก์ให้บริษัทผู้รับจ้างดังกล่าวเรียกเก็บหนี้จากผู้ว่าจ้างโจทก์ให้โจทก์ โดยเรียกเก็บทั้งในประเทศและต่างประเทศ แล้วผู้ว่าจ้างจะจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวไปยังบริษัทผู้รับจ้างพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าสาขาของโจทก์ในประเทศไทยจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยเพื่อประโยชน์ของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ด้วย สำหรับกรณีที่โจทก์จำหน่ายหนี้สูญจำนวน 1,445,885.03 บาท โจทก์มีเพียงพยานบุคคลเบิกความลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานทางบัญชีมาแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้บันทึกจำนวนหนี้ดังกล่าวเป็นรายได้แล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถได้รับชำระหนี้จากบริษัทดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าหนี้จำนวน 1,445,885.03 บาท มิใช่หนี้สูญที่แท้จริงหรือมิใช่หนี้สูญที่ได้ตัดจ่ายจากบัญชีของโจทก์จริง สำหรับกรณีที่โจทก์จำหน่ายหนี้สูญโดยไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (9) ประกอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 181 (พ.ศ.2532) ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่สามารถนำหนี้สูญจำนวนดังกล่าวมาคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ แม้จะเป็นผลให้โจทก์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นตามรายจ่ายต้องห้ามดังกล่าวก็ตาม แต่จะนำมาถือว่าโจทก์จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นกำไรออกไปจากประเทศไทยหาได้ไม่ เพราะข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าสาขาของโจทก์ในประเทศไทยมีพฤติการณ์จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรที่แท้จริงออกไปจากประเทศไทยเพื่อผลประโยชน์ของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ กรณีภาษีการค้าและอากรแสตมป์ไม่รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระตามที่ถูกประเมินเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2538 ตามปกติภาระภาษีเกิดขึ้นเมื่อเกิดความรับผิดในการเสียภาษี แต่ภาระภาษีการค้าและอากรแสตมป์ที่พิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินภาระภาษีการค้าและอากรแสตมป์ในกรณีนี้จึงยังไม่สามารถกำหนดจ่ายได้จริงและแน่นอน จนกว่าหนี้ค่าภาษีอากรตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นที่ยุติ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า จำเลยประเมินภาษีการค้าและอากรแสตมป์โจทก์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 และโจทก์ชำระภาษีดังกล่าวในวันที่ 15 มีนาคม 2538 โดยมิได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าว ดังนั้น รายจ่ายค่าภาษีการค้าและอากรแสตมป์ยังไม่สามารถกำหนดจ่ายได้จริงและแน่นอนในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตรวจสอบ รายจ่ายดังกล่าวจึงมิใช่รายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตรวจสอบ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.7/1080/2/100360 ถึง 100362 และ 100364 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ สภ.1/(อธ.1)/273 ถึง 275 และ 277/2542 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2542 |