เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 4638/2546 
กรมสรรพากรโจทก์

บจ. เอ็มซารูอินเตอร์เนชั่นแนล กับพวก

จำเลย
เรื่อง ความรับผิดของผู้ชำระบัญชี
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 68 69 72 89 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 1253 1264 1270

จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการซื้อขายเพชรพลอย มีหน้าที่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามประมวลรัษฎากร เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2540 เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ออกตรวจปฏิบัติการและนับสินค้าของจำเลยที่ 1 พบว่าจำเลยที่ 1 จำหน่ายสินค้าไปแล้วไม่ได้ลงบัญชีรวมเป็นมูลค่า 1,884,585.89 บาท จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ภายในวันที่ 15 เมษายน 2540 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 131,921.01 บาท เบี้ยปรับตามม. 89 (4) หนึ่งเท่าของภาษีที่ต้องชำระ เบี้ยปรับตามมาตรา 89 (10) จำนวนสองเท่าของภาษีที่ต้องชำระ และต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ค้างชำระคิดถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 เป็นเงิน 1,978.82 บาท เจ้าพนักงานประเมินออกหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 ในส่วนของภาษีและเงินเพิ่ม จำเลยที่ 1 ได้ยื่นเรื่องขอลดหรืองดเบี้ยปรับ ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้พิจารณาลดเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งการประเมินในส่วนของเบี้ยปรับ คิดเป็นเงิน 145,113.10 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเบี้ยปรับให้โจทก์ โจทก์อายัดสิทธิเรียกร้องตามบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม เป็นเงิน 4,171.36 บาท ธนาคารได้โนเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระค่าภาษีแล้ว คงค้างชำระภาษี 140,941.64 บาท เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบทางทะเบียนเกี่ยวกับฐานะของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2541 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2541 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี ตามงบดุลในวันจดทะเบียนเลิกบริษัท จำเลยที่ 1 มีเงินสดคงเหลือ 7,820 บาท ซึ่งเป็นเงินหมุนเวียนในบริษัท และเป็นเงินคนละจำนวนกับที่อายัดจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ในงบดุลยังระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ 801,223 บาท แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้เตรียมเงินจำนวนดังกล่าวไว้เพื่อชำระภาษีให้แก่โจทก์ แต่ในการชำระบัญชีจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระแก่โจทก์ เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือแล้วแต่ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีจะต้องนำทรัพย์สินที่คงเหลือของจำเลยที่ 1 ไปชำระหนี้ภาษีอากร แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ พยานของจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ตามงบกำไรขาดทุนที่ระบุว่าทรัพย์สินตัดจ่ายลูกหนี้กรมสรรพากร 801,223 บาท นั้น เป็นเงินที่ จำเลยที่ 1 จะต้องได้รับคืนจากโจทก์ แต่เนื่องจากยุ่งยากและในขณะนั้นเป็นที่ทราบกันในหมู่นักบัญชีว่าโจทก์ไม่เคยจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ประกอบการ จำเลยที่ 1 ประสงค์จะขอเลิกกิจการจึงไม่ขอรับคืนและทำบัญชีเป็นว่าตัดจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว การทำบัญชีดังกล่าวไม่ใช่เงินที่เตรียมไว้จ่ายภาษีให้แก่โจทก์
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ณ วันที่จำเลยที่ 1 เลิกกิจการเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอย่างเดียวคือเงินสด 7,820 บาท โจทก์แจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 และวันที่ 19 มกราคม 2541 ก่อนจดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1270 ประกอบประมวลรัษฎากร มาตรา 72 68 และ 69 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1253 แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้มีการกระทำหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวไม่ และตามข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2541 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 20 สิงหาคม 2541 ห่างกันเพียงเดือนเศษเท่านั้น ดังนั้นเมื่อการชำระบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 ยังมีเงินหรือทรัพย์สินอื่นเหลืออยู่ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้จัดการใช้หนี้เงินได้แก่เจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 และมาตรา 1264 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีในวงเงินไม่เกิน 7,820 บาท นอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021