เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2796-2801/2546 

นายยงยุทธ ลิมปานนท์ นายสถิตย์ ลิมปานนท์
นายสุวัฒน์ ลิมปานนท์  นายเลอเกียรติ อังสิริกุล
นายสนอง กาญจนาลัย นางผ่องศรี แสงสุคนธ์

โจทก์

กรมสรรพากร

เจ้าหนี้
เรื่อง ภาษีเงินได้พึงประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร ม. 40 (4) (ข) (ฉ) 68 69 72 วรรค 2 วรรค 3 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1200 - 1205

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และภริยาจำเลยที่ 5 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท เข้งหงวน จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 และขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างชำระบัญชี ในรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 16 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2541 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายที่ดิน ยาง และมะพร้าว เงินสงเคราะห์สวนยาง ดอกเบี้ยรับและรายได้อื่นๆ รวมจำนวน 13,478,152.22 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและขาดทุนสะสมยกมาไม่เกิน 5 ปีแล้ว เมื่อนำไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและขาดทุนสะสมแล้ว เหลือเงินจำนวน 130,531,347.33 บาท ผู้ชำระบัญชีนำไปจ่ายให้ผู้ถือหุ้นรวมจำนวน 126,000,000 บาท โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งให้จำเลยแล้ว และอ้างว่าได้รับการเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วขอรับภาษีคืน แต่จำเลยไม่คืนให้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกมีว่า เงินที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ภริยาโจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 6 ได้รับจำนวนดังกล่าวเป็นเงินปันผลตามมาตรา 40 (4) (ข) หรือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติถึงความหมายของคำว่า "เงินปันผล" ไว้โดยเฉพาะ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติเกี่ยวกับเงินปันผลและเงินสำรองของบริษัทจำกัดไว้ในบรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 4 ส่วนที่ 3 ข้อ 5 ตั้งแต่มาตรา 1200 ถึงมาตรา 1205 และประมวลรัษฎากร มาตรา 72 วรรค 2 ยังบัญญัติให้ถือว่าวันที่จดทะเบียนเลิกบริษัทเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และให้ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีตามแบบและภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากรโดยอนุโลม หากไม่สามารถยื่นรายการและเสียภาษีภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ มาตรา 72 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้ชำระบัญชียื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอขยายระยะเวลาออกไปอีก และอธิบดีกรมสรรพากรจะสั่งให้ขยายรอบระยะเวลาบัญชีออกไปอีกด้วยก็ได้ ดังนั้น ในระหว่างการชำระบัญชีของบริษัทฯ แม้จะถือว่าบริษัทตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี แต่การที่ผู้ชำระบัญชีขายทรัพย์สินของบริษัทและดำเนินกิจการต่างๆ หลังจากจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว เป็นเหตุให้บริษัทมีรายได้ในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุญาตให้ขยายออกไปดังกล่าว รายได้ของบริษัทที่เกิดขึ้นในระหว่างการชำระบัญชีที่มีเหลืออยู่หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว จึงมิใช่ผลกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการของบริษัท แต่เป็นผลกำไรจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทและเป็นทรัพย์สินของบริษัทที่ต้องแบ่งคืนแก่ผู้ถือหุ้นตามส่วน เมื่อได้กันส่วนที่จะต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทแล้ว เงินที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ภริยาโจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 6 ได้รับจากบริษัทฯ เมื่อมีการจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว เงินจำนวนดังกล่าวจึงมิใช่เงินปันผลที่ได้จากบริษัทฯ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการที่บริษัทฯ เลิกกัน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์แต่ละคนลงทุนในบริษัทดังกล่าว โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามารตา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021