คำพิพากษาฎีกาที่4413/2547 | |
ห้างหุ้นส่วนจำกัด อาณัติการโยธา | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง ภาษีอากร | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 78/1(2) 82(1) 82/3 82/4 83 89 89/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 155 | |
โจทก์ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับส่วนราชการ ต่อมาได้โอนสิทธิในการรับเงินทั้งหมดให้แก่บริษัท ว. จำกัด โจทก์ยังคงเป็นคู่สัญญากับทางราชการอยู่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82(1) ประมวลรัษฎากร เมื่อทางราชการจ่ายค่าจ้างในแต่ละงวด โดยบริษัทผู้รับโอนรับไปนั้นถือว่ารับในฐานะตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้รับเงินค่าจ้างดังกล่าว ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงต้องเกิดขึ้นทันทีที่ได้รับชำระค่าบริการตามส่วนของการบริการที่สิ้นสุดลงตามมาตรา 78/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยโจทก์ต้องเรียกเก็บจากผู้บริการตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องนำรายได้ดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมทั้งชำระภาษีตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร การที่บริษัท ว. จำกัด ได้รับมอบอำนาจให้รับเงินค่าจ้างแทนโจทก์ เนื่องจากโจทก์ได้มอบให้บริษัท ว. จำกัด ทำการก่อสร้างแทนโจทก์ จึงเป็นการที่โจทก์ได้จ้างให้บริษัท ว. จำกัด ก่อสร้างแทนโจทก์ บริษัท ว. จำกัด จึงเป็น ผู้ให้บริการแก่โจทก์ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในฐานะเป็นผู้ประกอบการ โดยต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์ และ ออกใบกำกับภาษีขายให้แก่โจทก์ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์เรียกเก็บดังกล่าว โจทก์ก็สามารถนำไปเป็นภาษีซื้อ ซึ่งจะนำไปหักภาษีขายที่โจทก์เรียกเก็บจากทางราชการ ในกรณีที่โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างจากทางราชการ ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/4 และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานฯ ของจำเลยให้โจทก์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ จึงเป็นการเรียกให้โจทก์รับผิดตามความรับผิดที่โจทก์มีตามกฎหมาย การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์และของบริษัท ว. จำกัด จึงไม่ได้ซ้ำซ้อนกัน การประเมินของเจ้าพนักงานฯ จึงชอบแล้ว มาตรา 89 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจอธิบดีวางระเบียบงดหรือลดเบี้ยปรับออกมาให้เจ้าพนักงานประเมินฯ ถือปฏิบัติ แต่ไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ดังนั้นศาลจึงมีอำนาจพิจารณาว่า การที่เจ้าพนักงานฯ งดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เอง ในกรณีที่มีเหตุอันควรอีกด้วย เมื่อตามพฤติการณ์แห่งคดี โจทก์ไม่มีพฤติกรรมหรือมีเจตนาจะหลีกเลี่ยงภาษี จึงไม่สมควรที่จะต้องเสียเบี้ยปรับอีก ที่ศาลภาษีอากกลางงดเบี้ยปรับทั้งหมดจึงชอบแล้ว สำหรับมาตรา 89/1 มิได้บัญญัติให้งดหรือลดเงินเพิ่มได้ดังเช่นมาตรา 89 วรรคท้าย ที่ให้อำนาจในการงดหรือลดเบี้ยปรับลงได้ ศาลจึงไม่มีอำนาจงดหรือลดเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรตามมาตรา 89/1 ได้ การที่โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องครบถ้วน โจทก์จึงต้องชำระเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89/1 การคืนค่าฤชาธรรมเนียมแก่คู่ความนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 155 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 เมื่อคดีของโจทก์ศาลภาษีอากรกลางได้พิจารณาและพิพากษาคดีไปตามประเด็นจนจบสิ้นแล้ว กรณีของโจทก์ มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ |