เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่8022-8024/2547 
บริษัท จี.เปรม.จี.จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 มาตรา 29

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3)

ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2(5)

คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.11/2528 ป.26/2534

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2544 มิได้บัญญัติเรื่องค่าขึ้นศาลไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา 17 และ 29 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ซึ่งตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องค่าขึ้นศาลมิได้บัญญัติว่าคดีหนึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ในการพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใดจำต้องพิจารณาคำฟ้องและต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาเกี่ยวข้องกันหรือแยกจากกันได้ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ข้อหาหนึ่ง ปี 2535 ข้อหาหนึ่ง ภาษีการค้าปี 2534 ข้อหาหนึ่ง และภาษีธุรกิจเฉพาะปี 2535 อีกข้อหาหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล 4 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกันสามารถแยกออกจากกันได้ จำเลยอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้า และภาษีธุรกิจเฉพาะตามที่โจทก์ฟ้องในจำนวนทุนทรัพย์ 19,334,492.94 บาท จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล 4 ข้อหาที่ ไม่เกี่ยวข้องกันเช่นเดียวกับที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสี่ข้อหา โจทก์ให้บริษัท 17 บริษัทกู้ยืมเงิน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี เฉพาะบริษัท อ จำกัด แต่มิได้เรียกดอกเบี้ยจากอีก 16 บริษัท เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ แต่เจ้าพนักงานของจำเลยเห็นว่ามิใช่บริษัทในเครือ การวินิจฉัยว่า เป็นบริษัทในเครือเดียวกันหรือไม่ จึงต้องพิจารณาโดยอาศัยประมวลรัษฎากร มาตรา 39 กับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.11/2528 และที่ ป.26/2534 ประกอบกัน เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า มีแปดบริษัทเป็นบริษัทในเครือเดียวกับโจทก์ การให้ กู้ยืมเงินไม่ว่าจะนำเงินของตนหรือนำเงินที่กู้ยืมมาจากบุคคลอื่นมาให้กู้ยืม ไม่ว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดก็ไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีการค้า หรือเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.11/2528 ข้อ 2 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.26/2528 ข้อ 2 ส่วนอีกแปดบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทในเครือเดียวกับโจทก์ จำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จากรายรับดอกเบี้ยให้กู้ยืมเงินในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่โจทก์คิดกับบริษัท อ จำกัด จึงถูกต้องและ เป็นธรรมแล้ว

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021