คำพิพากษาฎีกาที่ 3226/2548 | |
บริษัท พ.พรีเซนเตชั่น จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง ภาษีอากร | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 26 มาตรา 68 มาตรา 71(1) | |
โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 68 เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์มาตรวจสอบภาษีได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 23 โดยเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์ครั้งแรกให้โจทก์ไปพบและนำเอกสารหลักฐานไปให้ตรวจสอบแต่โจทก์เพิกเฉย เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกหนังสือเตือนให้โจทก์ไปพบและนำหลักฐานไปส่งมอบอีก นาง ส. กรรมการ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์มาพบเจ้าพนักงานประเมิน แต่ก็มิได้มอบเอกสารหลักฐานใดให้ตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีหนังสือเชิญโจทก์ไปพบและส่งมอบบัญชีพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานอีก 3 ครั้ง โจทก์จึงมอบบัญชีที่ต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้แก่ เจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งเป็นระยะเวลานานเกือบ 4 ปี การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิเปรียบเทียบกับการประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 (1) แล้ว การประเมินตามมาตรา 71 (1) มีจำนวนภาษีมากกว่า จึงขออนุมัติไม่ประเมินภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 (1) ตามคำร้องขอของโจทก์ แต่อธิบดีของจำเลย ไม่อนุมัติโดยเห็นว่า โจทก์ไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเท่าที่ควร และเจ้าพนักงานประเมินได้ปฏิบัติตาม โดยประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา71(1) อันเป็นการดำเนินการตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.78/2541 เรื่อง ขอบเขตการใช้อำนาจตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่27 ตุลาคม 2541 จึงชอบแล้ว ส่วนยอดรายได้ที่แตกต่างกันนั้น โจทก์ไม่มีหลักฐาน การรับเงินและหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้ว่าจ้างมาแสดงว่าเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 ซึ่งได้ชำระภาษีไว้แล้ว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน | |