เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2077/2548 
นายประเสริฐ แก้วดวงเทียนโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 42(17) กฎกระทรวงฉบับที่ 126 (36) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 52) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 80)

โจทก์เป็นพนักงานประจำของบริษัท อ. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2522 โจทก์ถูกบังคับให้เกษียณอายุก่อน ครบ 60 ปี โจทก์จึงทำหนังสือขอเกษียณอายุอีกฉบับหนึ่งเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของบริษัทฯ ให้เห็นว่าพนักงานต้องการเกษียณอายุเองมิใช่ถูกบังคับให้เกษียณ ต่อมาบริษัทฯได้มีหนังสืออนุมัติให้โจทก์เกษียณได้โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 โจทก์มีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานจำนวน 3 รายการ คือเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เงินชดเชยการออกจากงานพิเศษและเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์นำเงินได้ทั้งสามรายการดังกล่าวมาคำนวณในแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 โดยแยกเป็น 2 ฉบับ โดยแยกเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกจากเงินได้ประเภทอื่น ซึ่งโจทก์ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว โดยที่โจทก์ได้รับยกเว้นจากการเกษียณอายุของโจทก์ตามข้อ 2(36) แห่ง กฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรและประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพลภาพ หรือตาย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลย ข้อแรกว่า หนังสือขอเกษียณอายุก่อนกำหนดของโจทก์เป็นเอกสารที่โจทก์ทำภายหลังเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการฟ้องคดีตามคำให้การของจำเลยหรือไม่ จำเลยไม่ได้นำสืบ พยานหลักฐานใดมาหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ จึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงได้ตามคำให้การของจำเลย ข้อสุดท้ายว่า เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ คดีนี้โจทก์ได้รับเงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากกรณีเกษียณอายุก่อนกำหนด ปัญหาว่า การขอเกษียณอายุก่อนกำหนดนั้น เป็นการเกษียณอายุตามหลักเกณฑ์หรือไม่ เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ คำนิยามศัพท์คำว่า เกษียณอายุไว้ จึงต้องแปลความหมายตามพจนานุกรมว่า ครบกำหนดอายุรับราชการ, สิ้นกำหนดเวลา รับราชการหรือการทำงาน การครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดการทำงาน จึงหมายถึงการที่นายจ้างให้พนักงานลูกจ้าง ออกจากงาน เนื่องจากสูงอายุตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วย คดีนี้บริษัทฯ ที่โจทก์ทำงานอยู่มีคู่มือพนักงานอันเป็นระเบียบบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เกี่ยวกับการเกษียณอายุของพนักงานไว้ 2 กรณี กรณีแรกพนักงานจะเกษียณอายุเมื่ออายุครบ60 ปีบริบูรณ์ กรณีที่สองบริษัทอาจอนุญาตให้พนักงานเกษียณอายุก่อนครบ60 ปีบริบูรณ์ โดยมีเงื่อนไขสามประการ คือ ประการแรก บริษัทกับพนักงานต้องมีข้อตกลงเป็นหนังสือ ประการที่สอง พนักงานที่ขอเกษียณอายุต้องมีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และประการที่สาม พนักงานผู้ขอเกษียณอายุต้องมีอายุ การทำงานอย่างน้อย 15 ปี โจทก์ได้ทำหนังสือขอเกษียณอายุและบริษัทได้อนุมัติให้โจทก์เกษียณอายุก่อนกำหนด ถือได้ว่าโจทก์กับบริษัทมีข้อตกลงในการเกษียณอายุก่อนกำหนดเป็นหนังสือ และตามข้อเท็จจริง โจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานขณะที่โจทก์มีอายุ 56 ปีเศษ มีอายุงาน 18 ปีเศษ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ทั้งสามประการตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จึงถือเป็นการเกษียณอายุตามข้อตกลงแล้ว การที่โจทก์ได้รับเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในขณะโจทก์ 56 ปีเศษ ซึ่งมีอายุครบ 55 ปีขึ้นไป แม้โจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ครบ 5 ปี ขณะที่โจทก์เกษียณอายุ แต่โจทก์ได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งมีระยะเวลาทำงานกับนายจ้างนั้นก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์สามประการที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์และเหตุผลดังได้วินิจฉัยข้างต้น อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021