คำพิพากษาฎีกาที่4812/2547 | |
บริษัท หลุยส์ตี.เลียวโนเวนส์ (ประเทศไทย) จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง อนุสัญญาภาษีซ้อน | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร 40 (3), 67 ตรี และ 70 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 มาตรา 3 อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์กและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ข้อ 7 และ 12 วรรคสอง | |
โจทก์ทำสัญญาประกันภัยสินค้าไว้กับบริษัทประกันภัยเมื่อวันที่4 กรกฎาคม 2533 สินค้าของโจทก์ ที่เก็บไว้ในคลังสินค้าได้รับความเสียหายจากพายุฝนเมื่อวันที่5 กรกฎาคม 2533 และโจทก์ได้ยื่นประมาณการกำไรสุทธิตามแบบภ.ง.ด. 51 ต่อจำเลยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2533 แม้ว่าการยื่นประมาณการกำไรสุทธิจะได้กระทำหลังจากที่โจทก์ทราบว่าสินค้าที่เก็บไว้ในคลังสินค้าได้รับความเสียหายจากพายุฝน และทราบถึงจำนวนสินค้าที่เก็บไว้ในคลังสินค้าแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจทราบจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงจนกว่าจะมีการสำรวจความเสียหายก่อน ดังนั้น ในวันที่ยื่นประมาณการกำไรสุทธิจึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายเท่าใด และไม่ทราบว่าจะมีรายได้ที่จะได้รับจากค่า เสียหายที่บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้เพียงใด อีกทั้งไม่ทราบว่าบริษัท ประกันภัยจะไม่รับเอาสินค้าที่ได้รับความเสียหายไป จึงทำให้โจทก์มีกำไรจากการขายซากทรัพย์เพิ่มขึ้นอีก การที่โจทก์ยื่นประมาณการกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 ขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ซึ่งจะได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการจึงมีเหตุสมควร ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท ก. ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศเดนมาร์ก ได้ทำสัญญาให้บริการด้านการตลาดแก่โจทก์ โดย ข้อสัญญากำหนดให้บริษัท ก. ต้องจัดเตรียมและจัดหาคำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือและให้บริการเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไป การบริหารและเจรจาต่อรองทางด้านสัญญา การเลือกตัวแทนจำหน่ายและความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่าย การ ส่งเสริมด้านการตลาดและการขายที่เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า การจัดซื้อ การจำหน่าย การโฆษณา และการขายสินค้าให้แก่โจทก์ ลักษณะการให้บริการและความช่วยเหลือด้านการบริหารและการตลาดจะต้องจัดทำโดยบริษัท ก. ในสำนักงานต่าง ๆ นอกประเทศไทยผ่านทางจุลสาร หนังสือแสดงรายการสินค้า เอกสารประกอบและโฆษณาการขาย คู่มือการปฏิบัติงานและการบริหาร การโต้ตอบโดยทางโทรพิมพ์ โทรสารและจดหมายและวิธีการ สื่อสารอื่น และการให้บริการจะรวมถึงการให้ คำแนะนำด้านความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายและการบริหารสัญญา การให้คำแนะนำด้านการจัดจำหน่ายและการพาณิชย์ วิธีการบริหารและการปกครอง บริการด้านข่าวสารและข้อมูล โดยบรรดาเอกสาร คู่มือและข้อมูลซึ่งอาจสื่อสารหรือในกรณีซึ่งจัดทำขึ้นโดยบริษัท ก. เนื่องจากการให้บริการ จะตกเป็นทรัพย์สินของโจทก์ จึงเป็นสัญญาที่บริษัท ก. ตกลงให้คำแนะนำและคำปรึกษาเรื่องการบริหารการเงิน และการตลาดให้แก่โจทก์ อันเป็นการรับทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 และไม่ปรากฏว่ามีการให้ใช้สิทธิในกรรมวิธี สูตร หรือสิทธิ ในการประกอบกิจการอันเป็นความลับแต่อย่างใด แม้การจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาจะกำหนดให้คิดคำนวณในอัตราร้อยละของยอดขายสินค้าที่ให้โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่าย แต่บริษัท ก. ก็มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์เป็นตัวแทนขายสินค้าที่มีชื่อตราสินค้าหรือผูกขาดยี่ห้อสินค้าค้าต่าง ๆ แต่ผู้เดียว เพราะโจทก์ก็เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่าย สินค้าของบริษัทอื่นโดยสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง และได้รับแต่งตั้งจากผู้ผลิตหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้า ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายด้วย การที่โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัท ก. จึงมิใช่ค่าให้ใช้สิทธิแห่งเครื่องหมายการค้า หรือค่าแห่งสิทธิอย่างอื่นในลักษณะทำนองเดียวกับค่าแห่งกู๊ดวิลล์หรือค่าแห่งลิขสิทธิ์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3) และตาม ข้อสัญญาก็มิได้มีการตกลงที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์พิเศษซึ่งต้องไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนอันเป็นวิทยาการเพื่อให้โจทก์นำไปใช้ จึงมิใช่เป็นการให้ใช้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทาง อุตสาหกรรม การพาณิชย์ หรือวิทยาศาสตร์อันเป็นค่าสิทธิตามที่ระบุไว้ในข้อ 12 วรรคสอง แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศเดนมาร์ก เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และทุน เงินค่าบริการจึงเป็นค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างทำของและเป็นกำไรจากธุรกิจที่บริษัท ก. ซึ่งประกอบกิจการในต่างประเทศและไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยได้รับจากโจทก์ ตามข้อ7 แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 มาตรา 3 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร. |