เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่3668/2547 
บริษัทฉัตรดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) มาตรา 65 วรรคสอง

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1220 มาตรา 1228

โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2541 โจทก์จะต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นฟ้องภายในวันที่ 7 มกราคม 2542 แต่ในวัน ดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลภาษีอากรกลางขอขยายระยะเวลาฟ้องคดี ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องออกไปมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 7 มกราคม 2542โจทก์จึงมีอำนาจที่จะฟ้องคดีได้จนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2542 ตรงกับวันเสาร์ หยุดราชการ และวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 ตรงกับวันอาทิตย์ หยุดราชการเช่นกัน โจทก์จึงมีอำนาจที่จะฟ้องในวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการได้ ที่จำเลยอ้างว่าศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจขยายเวลาตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30 (2) นั้น เห็นว่า ระยะเวลา 30 วัน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ดังนั้น เมื่อศาลภาษีอากรกลางเห็นว่า คำร้องของโจทก์ ที่ขอขยายระยะเวลามีพฤติการณ์พิเศษ ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจที่จะอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฟ้องจำเลยออกไปได้ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

เดิมโจทก์มีทุนจดทะเบียนเพียง 1,000,000 บาท โจทก์ต้องการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อใช้กับโครงการ ก่อสร้างจึงเพิ่มทุนอีก 59,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 60,000,000 บาท แต่เงินเพิ่มทุนของโจทก์ขาดหายไปในปี 2532 จำนวน 36,000,000 บาท ปี 2533 จำนวน 24,000,000 บาทและปี 2534 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2534 จำนวน 12,000,000 บาท และถือว่าเงินเพิ่มทุนที่ขาดหายไป โจทก์นำไปให้ผู้ถือหุ้นกู้ยืม

โจทก์สามารถเพิ่มทุนได้ด้วยการออกหุ้นใหม่ โดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1220 เมื่อมีมติพิเศษให้เพิ่มทุนเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2532 แล้ว โจทก์ยังอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่จะต้องมีหน้าที่ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อเพิ่มทุน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1228 ด้วย เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถตรวจสอบ ความถูกต้องแท้จริงได้ เมื่อมีกฎหมายบังคับให้โจทก์ต้องไปจดทะเบียนเสียก่อน จึงต้องถือว่าวันที่ 15 กันยายน 2532 ซึ่งเป็นวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน เป็นวันที่โจทก์เพิ่มทุนและรับชำระ เต็มมูลค่าหุ้น หาใช่วันที่ 24 กรกฎาคม 2532 ดังที่จำเลยอ้างไม่

กรณีการคำนวณดอกเบี้ยรับถือเป็นรายได้นั้น ทั้งโจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์ โจทก์จึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามที่ ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัย

เดิมโจทก์บันทึกรายได้รายจ่ายโดยใช้เกณฑ์เงินสด มิได้ใช้เกณฑ์สิทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง เจ้าพนักงานตรวจสอบได้ทำการปรับปรุงรายได้รายจ่ายใหม่โดยใช้เกณฑ์สิทธิ ซึ่งโจทก์ยินยอมให้ใช้เกณฑ์สิทธิได้ตามที่จำเลยต้องการ

ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์ได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับ ค่าใช้จ่ายห้ารายการ เพื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้ว แม้ไม่ได้โต้แย้งในเรื่องของต้นทุนขายว่าการคำนวณต้นทุนขายของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร จำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าเอกสารหลักฐานต่างๆที่โจทก์ส่งมานั้น สามารถนำมาคำนวณเป็นรายจ่ายในบัญชีต้นทุนขายได้หรือไม่อย่างไรเสียก่อนตามหลักเกณฑ์สิทธิ ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ทป.1/2528 นอกจากนี้ยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของจำเลยได้ทำ รายงานการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ไว้ว่า ได้พิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่า เจ้าพนักงานฯ ทำการปรับปรุงกำไรสุทธิของผู้อุทธรณ์ใหม่ โดยคำนวณจากการนำกำไร (ขาดทุน) สุทธิ ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ที่ผู้อุทธรณ์ยื่นไว้ในแต่ละรอบบัญชี ซึ่งประกอบด้วยรายได้ทั้งหมดหักด้วยต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและดอกเบี้ยจ่ายที่ผู้อุทธรณ์คำนวณและกรอกรายการต่างๆ ไว้ตามแบบ เจ้าพนักงานฯ ได้ปรับปรุง รายการบางส่วนเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยรับ จึงไม่มี ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่จะหักให้เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากผู้อุทธรณ์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่า มีรายการค่าใช้จ่ายใดที่ยังมิได้นำมาคำนวณกำไรสุทธิ ซึ่ง ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็มีมติเห็นด้วยกับรายงานดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่างยอมรับว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ของโจทก์ดังกล่าวสามารถนำมาคำนวณเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่จะหักเพิ่มขึ้นอีกได้ หากมีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า ค่าใช้จ่ายทั้งห้ารายการสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อคำนวณกำไรสุทธิได้ เมื่อโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โต้แย้งว่า จำเลยมิได้หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ก็เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลย ประเมินไม่ชอบ ไม่นำค่าใช้จ่ายต่างๆมารวมเป็นต้นทุนขายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ หาใช่ว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนขายตามที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์จำเลยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ส่งหลักฐานรายจ่ายทั้งห้ารายการในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่างก็มิได้โต้แย้งหรือปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้น จึงเชื่อได้ว่าเอกสาร ดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่แสดงถึงรายจ่ายอันแท้จริงของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 และปี 2533 เมื่อจำเลยไม่นำค่าใช้จ่ายทั้งห้ารายการไปหักให้ย่อมเป็นการไม่ชอบ การประเมินภาษีเงินได้และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยยอมให้หักค่าใช้จ่ายทั้งห้ารายการ เพื่อคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์จึงชอบแล้ว

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021