เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่7665/2547 
บริษัทไรซ์เอ็นจิเนียริ่งซัพพลาย จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 มาตรา 27 มาตรา 40 มาตรา 50 (1) มาตรา 65 ทวิ (4) มาตรา 65 ตรี (1) (2)

เจ้าพนักงานของจำเลยออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรเพื่อตรวจสอบภาษีทุกประเภทของโจทก์ โจทก์ให้กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยรับ โจทก์นำค่าใช้จ่ายซึ่งเกิดจากการใช้บัตรเครดิตของนาย พ. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์มาบันทึกเป็นรายจ่ายในบัญชี ค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย โจทก์นำค่าใช้จ่ายและค่าซื้อของขวัญให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์และเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์มาบันทึกเป็นรายจ่ายในบัญชีค่าใช้จ่ายในการประมูลงาน ค่าบริการในการตรวจสอบสินค้าค่ารับรองและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด โจทก์จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแทนพนักงานของโจทก์ รวมทั้งได้ออกค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับ ค่านายหน้าแทนพนักงานและบุคคลภายนอก โจทก์จ่ายค่าเช่าและค่าที่ปรึกษาให้แก่บุคคลธรรมดาโดยหักภาษีณ ที่จ่ายไว้ไม่ครบถ้วน

ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 บัญญัติให้อำนาจอธิบดีอนุมัติขยายเวลาการ ออกหมายเรียกมาไต่สวนเกิน 2 ปี แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ยื่นรายการเสียภาษี กรณีเมื่อปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานของจำเลยมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่าย กำไรสุทธิแสดงไว้ต่ำและอาจมีค่าใช้จ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี จึงขออนุมัติอธิบดีทั้งได้แนบบันทึกไปกับแบบขออนุมัติหมายเรียกโดยมีการเสนอไปตามลำดับชั้นบังคับบัญชาถึงเหตุที่ขออนุมัติ แสดงให้เห็นว่าเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรสงสัยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และได้รับอนุมัติจากผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายโดยชอบแล้ว

โจทก์อ้างว่าให้บริษัทในเครือกู้ยืม โดยบริษัทดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทในเครือแต่สำนักงานตั้งอยู่ในที่เดียวกัน โจทก์ไม่ได้ส่งเอกสารการถือหุ้นของบริษัทในเครือให้เจ้าพนักงานของจำเลย ดังนั้น เมื่อไม่มีหลักฐานแสดงว่าบริษัทที่โจทก์ให้กู้ยืมเงินไปเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ การที่โจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยจึงไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) จำเลยจึงมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาดในวันที่โจทก์ให้กู้ยืมเงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ย ที่จำเลยกำหนดร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ซึ่งจ่ายให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบแสดงให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยตามราคาตลาดในวันที่ให้กู้ยืมเงินมีอัตราต่ำกว่าที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด อุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น

รายจ่ายของนาย พ. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ ซึ่งจ่ายจากบัตรเครดิตของนาย พ. นั้น โจทก์มีหลักฐานเพียงใบแจ้งรายการรายจ่ายจากบัตรเครดิตที่ธนาคาร เจ้าของบัตรเรียกเก็บโดยไม่มีใบเสร็จรับเงินประกอบ เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานใบเสร็จรับเงินมาแสดงจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการของโจทก์

เบี้ยประกันชีวิตที่โจทก์ออกให้พนักงานถือเป็นประโยชน์ใด ๆ ที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานหรือเนื่องจากหน้าที่ที่ทำตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) และ (2) จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ซึ่งโจทก์ผู้จ่ายเงินได้ พึงประเมินดังกล่าวมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 (1)

ส่วนเงินเพิ่มบางส่วนที่เรียกเก็บสูงกว่าจำนวนเงินภาษีนั้น เป็นเพราะภาษีบางเดือนชำระเกิน เจ้าพนักงานประเมินจึงนำภาษีที่ชำระเกินของบุคคลคนเดียวกันมาหักออกจากภาษีของเดือนที่ชำระขาดแล้วคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่เดือนที่ชำระขาดจนถึงเดือน ที่ชำระเกินโดยคำนวณตามมาตรา 27 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร แต่เมื่อนำเงินภาษีและเงินเพิ่มของแต่ละคนมารวมกันแล้ว จึงเป็นผลให้จำนวนเงินเพิ่มมากกว่าจำนวนเงินภาษี การคำนวณของจำเลยชอบแล้ว.

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021