เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่6550/2547 
นางสาวเพียงใจ หาญพาณิชย์ โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ภาษีการค้า
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 87(2), 87 ตรี, 88 ทวิ (2) (เดิม) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31

นางสาวสมถวิลกับพวกรวม 7 คน ซื้อที่ดินจำนวน 3 แปลง จากบริษัท พลาซ่าโฮเต็ล จำกัด ในราคา 4,000,000 บาท เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์2533 อ้างว่าเพื่อนำมาแบ่งและปลูกบ้าน ถัดมาอีก 1 วัน คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 นางสาวสมถวิลกับพวกกลับขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัท อินทนิลพัฒนา จำกัด ในราคา 24,000,000 บาท มีกำไรถึง 20,000,000 บาท ประกอบกับการดำเนินการซื้อขายที่ดินทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากบริษัท พลาซ่าโฮเต็ล จำกัด และการขายให้แก่บริษัท อินทนิลพัฒนา จำกัด มีผู้รับมอบอำนาจดำเนินการแทนเป็นคนเดียวกันคือนางสาวศรีวรา ทั้งข้ออ้างของนางสาวสมถวิลกับพวกรวม 7 คน ที่ว่าซื้อที่ดินมาเพื่อสร้างบ้าน แต่เมื่อไปดูสภาพที่ดินภายหลังพบว่าเป็นดินเลนจึงขายไปในวันรุ่งขึ้นนั้นก็ขัดต่อเหตุผลเพราะตามปกติผู้จะซื้อที่ดินในราคาที่สูงถึง 7,000,000 บาท มาเพื่อปลูกสร้างบ้านย่อมต้องไปตรวจดูสภาพที่ดินก่อนที่จะซื้อ เมื่อพิจารณาถึงฐานะอาชีพความสัมพันธ์ของนางสาวสมถวิล กับพวกรวม 7 คนแล้ว ปรากฏว่าในปี 2533 นางสาวสมถวิล นางสาวอัจฉราและ นายอาพลทำงานเป็นพนักงานอยู่ที่โรงแรมแมนดาริน ของบริษัท แมนดารินโฮเต็ล จำกัด ซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจตามแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 58 (2) ภ.ง.ด. 1 ก. สำหรับนางสาวสุมณฑาเป็นน้องสาวของนางสาวอัจฉรา ก็ทำงาน อยู่ที่บริษัท พลาซ่าโฮเต็ล จำกัด ส่วนนางสาวศรีวันเพ็ญ นายธานินทร์ และนางสาวพัชรินทร์เป็นพี่น้องของนายอาพลต่างก็เป็นลูกจ้างของบริษัทที่มีโจทก์เป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจเช่นเดียวกัน โจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจที่จะให้คุณให้โทษแก่บุคคลเหล่านี้ การดำเนินการ ทั้งการซื้อและการขายดำเนินการแทนโดยนางสาวศรีวราทั้งสิ้น จึงไม่มีเหตุผลและน้ำหนัก ที่จะรับฟังว่านางสาวสมถวิลกับพวกรวม 7 คน เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวที่แท้จริง กรณีเช่นนี้หากมิได้มีการวางแผนตกลงซื้อขายกันมาก่อนล่วงหน้าแล้ว ก็ไม่อาจที่จะทำการจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัท อินทนิลพัฒนา จำกัด ภายหลังจากที่ซื้อที่ดินดังกล่าวมาเพียงวันเดียว นอกจากนี้ยังปรากฏจากคำให้การของนางสุรีย์ หมื่นนรินทร์ กรรมการและผู้รับมอบอำนาจของบริษัท อินทนิลพัฒนา จำกัด ผู้ซื้อที่ดินว่า บริษัทได้ซื้อ ที่ดินทั้ง 3 แปลง จากนางสาวสมถวิลและพวกในราคา 24,000,000 บาท โดยจ่ายเป็นเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด รวม 16 ฉบับ คือเช็คเลขที่ 5321961 ถึง 5321975 และ 2266080 สำหรับเช็คเลขที่ 2266080 จำนวน 720,000 บาท จ่ายให้แก่นางลัดดา โชควัฒนา กรรมการบริษัท อินทนิลพัฒนา จำกัด ซึ่งได้จ่ายเงินส่วนตัวเป็นค่ามัดจำไปก่อน เช็คทั้ง 16 ฉบับ เป็นเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายให้แก่บริษัท อินทนิลพัฒนา จำกัด มีการสลักหลังโอนลอยไว้ แล้วมีการนำเข้าบัญชีของโจทก์ ส่วนเช็คเลขที่ 2266080 สั่งจ่ายให้แก่ นางลัดดาเป็นค่ามัดจำที่นางลัดดาออกทดรองไปก่อนจำนวน 720,000 บาท ประกอบกับโจทก์มิได้โต้แย้งว่าเหตุใดจึงมีการนำเช็คจำนวน 15 ฉบับ รวมจำนวนเงิน 23,280,000 บาท มาเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ ไม่นำเข้าบัญชีของนางสาวสมถวิลกับพวก เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเงินจำนวน 23,280,000 บาท ไปให้นางสาวสมถวิลกับพวกแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์การกระทำต่าง ๆ เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นได้ว่าโจทก์เป็นตัวการเชิดนางสาวสมถวิลกับพวกรวม 7 คน เป็นตัวแทนของโจทก์ขายที่ดินทั้ง 3 แปลง ดังกล่าวให้แก่บริษัท อินทนิลพัฒนา จำกัด เมื่อขายได้แล้วโจทก์เป็นผู้รับเงินตามจำนวนเงินที่ขายได้ โจทก์ในฐานะตัวการย่อมต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีการค้าจากการขายที่ดินทั้ง 3 แปลงนั้น ซึ่งการขายที่ดินดังกล่าวมีระยะเวลาถือการครอบครองเพียง 1 วัน เท่านั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นทางค้าหรือหากำไรตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 11 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงเป็นผู้มีรายรับจากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3328, 3329 และ 3345 รวม 3 แปลง จำนวนเงิน 24,000,000 บาท ส่วนที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ และ ภาษีต่าง ๆ ที่เป็นรายรับของโจทก์ในปี 2533 แล้ว แต่โจทก์มิได้นำรายรับจากการขายที่ดินจำนวน 24,000,000 บาท รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าโดยอ้างว่าโจทก์มิใช่เจ้าของ ที่ดินจึงมิใช่ผู้ขายและมิใช่ผู้มีรายรับจำนวนเงินดังกล่าว แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่มีรายรับจากการขายที่ดินทั้ง 3 แปลงแล้ว โจทก์กลับยื่นแบบแสดงรายการการค้า ไว้ไม่ถูกต้องโดยไม่นำรายรับจำนวน 24,000,000 บาท มารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษี การค้าด้วย เช่นนี้ เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีการค้าได้ทันที โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนก่อนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 (2) และ 87 ตรี ที่ใช้บังคับ และการที่โจทก์เป็นผู้มีรายรับจากการขายที่ดินทั้ง 3 แปลง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้าภายใน วันที่ 15 มีนาคม 2533 และโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้ว แต่มิได้นำรายรับจำนวน 24,000,000 บาท มารวมคำนวณเข้าด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ยื่นแบบแสดง รายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีแล้ว ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมิน ได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าจากโจทก์ โจทก์ได้รับทราบการประเมินเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 จึงยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องภาษีการค้าภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 88 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น.

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021