คำพิพากษาฎีกาที่ 3225/2547 | |
บริษัท มหกิจแทรกเตอร์บริการ จำกัด (มหาชน) | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง การสืบพยาน | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 20 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2545 ข้อ 15 | |
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 20 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2545 ข้อ 15 กำหนดให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 30 วัน เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้าคู่ความมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ คู่ความดังกล่าวนั้น อาจยื่นคำร้องพร้อมทั้งบัญชีระบุพยานไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนศาลพิพากษาคดี ขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้น คดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลภาษีอากรนัดชี้สองสถานวันที่ 9 มิถุนายน 2546 และโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานในวันเดียวกันนั้นเอง อันเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระพยานได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยโจทก์ได้แถลงด้วยวาจาว่าเข้าใจผิดในข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร จึงไม่ได้ทำคำร้องหรือยื่นบัญชีระบุพยานตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อกรณีนี้กฎหมายบังคับให้ ทำเป็นคำร้องแต่โจทก์กลับมาแถลงด้วยวาจาจึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์จะอ้างว่าเป็นความเข้าใจผิดของโจทก์ย่อมไม่อาจ รับฟังได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่โจทก์ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่รับบัญชีระบุพยานของโจทก์ จึงชอบแล้ว การที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดข้อพิพาทเป็นประเด็นแรกว่า การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีพิพาทชอบหรือไม่ โจทก์กล่าวอ้างใน คำฟ้องว่าการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่โจทก์ ส่วนประเด็นพิพาทข้อที่สอง คือมีเหตุสมควรที่จะลดเบี้ยปรับหรือไม่ นั้น โจทก์อ้างว่ากรณีของโจทก์มีเหตุสมควรงดหรืลดเบี้ยปรับ ภาระการพิสูจน์ให้เป็นดังข้ออ้างย่อมตกแก่โจทก์เช่นเดียวกัน ที่ศาลภาษีอากรกำหนดให้โจทก์มีภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อพิพาททั้งสองจึงชอบแล้ว | |