เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่7833/2546 
บริษัทซีอาร์ซี.เอโฮลด์ จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/6 , 91/2(5) ,91/5(5)

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.26/2534

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)

โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของตนไปใช้หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท และไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่า ภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือกิจการบริการดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด โจทก์ได้รับเงินเป็นค่าดอกเบี้ยจากเงินที่โจทก์ให้บริษัทในเครือเดียวกันที่โจทก์มีหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของบริษัทนั้นกู้ยืม เป็นเงินปีละ 97,138,095.92 บาท แต่ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ประจำปีภาษีแต่ละปี โจทก์มิได้นำเงินดอกเบี้ยดังกล่าวมาเป็นรายได้ในการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) มีปัญหาว่า โจทก์ต้องนำดอกเบี้ยดังกล่าวมาเป็นรายได้เพื่อเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 29) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อนำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่า ดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่โจทก์ได้รับมาจากการที่โจทก์ให้บริษัทในเครือเดียวกันกู้ยืมเงิน การกู้ยืมเงินเช่นว่านั้น ถือเป็นการประกอบกิจการ โดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นกิจการที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2(5) และเป็นกิจการที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/3 แต่อย่างใด ดังนั้น ดอกเบี้ยที่เกิดจากการประกอบกิจการเช่นว่านี้ จึงถือว่าเป็นรายรับที่เกิดจากกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับคำสั่งกรมสรรพากร ฉบับ ที่ ป.26/2534 เรื่อง ดอกเบี้ยสำหรับกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 2 ระบุว่าดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากกรณีกู้ยืมเงินเช่นว่านี้ ไม่ต้องนำมารวมเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวนี้เพียงแต่ยกเว้นดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเท่านั้น มิใช่เป็นกรณียกเว้นว่ากิจการให้กู้ยืมเงินเช่นว่านี้ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น ดอกเบี้ยที่เกิดจากกิจการเช่นว่านี้ ยังคงเป็นรายรับจากกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอยู่ เป็นแต่เพียงได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเท่านั้น เมื่อดอกเบี้ยที่เกิดจากกิจการให้กู้ยืมเงินของบริษัทในเครือเดียวกันเป็นรายรับของกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว จึงเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อ 4(2) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) ด้วย และเมื่อดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นรายได้ของกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ก็ต้องนำไปคำนวณเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของ รายได้ของแต่ละกิจการ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 2 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวข้างต้น การที่โจทก์ไม่นำรายได้ในส่วนนี้ไปเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ย่อมทำให้อัตราเฉลี่ยของภาษีซื้อของโจทก์ผิดพลาดไป มีผลทำให้โจทก์ได้รับคืนภาษีซื้อมากขึ้น ซึ่งไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงสามารถคำนวณใหม่และคืนภาษีซื้อให้โจทก์ในจำนวนที่ถูกต้องได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดี กรณีเป็นเรื่องโจทก์แปลความหรือเข้าใจความหมายของรายได้ที่จะต้องนำมาคำนวณเป็นรายรับในการเฉลี่ยภาษีซื้อหรือไม่ผิดไป ประกอบกับ มีหนังสือตอบข้อหารือของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ กค 0811/6188 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเฉลี่ยภาษีซื้อ ที่เจ้าพนักงานของจำเลยให้ความเห็นไว้ว่า กรณีรายรับดังกล่าวนี้ไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ในการเฉลี่ยภาษีซื้อ ซึ่งโจทก์ได้ปฏิบัติไปตามความเห็นของ เจ้าพนักงานของจำเลยตามหนังสือดังกล่าว พฤติการณ์ของโจทก์เช่นนี้จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษี แต่เกิดจากความสำคัญผิดและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในข้อกฎหมาย เบี้ยปรับเป็นบทลงโทษผู้ที่ชำระภาษีไว้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ อันเป็นพฤติการณ์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี เมื่อโจทก์ไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงภาษี โจทก์จึงสมควรได้รับการงดเบี้ยปรับทั้งหมด

นายสุวัฒน์ ไวยุพัฒนธี /ย่อ

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021