เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่3559/2548 
นาวาตรีวิสิทธิ์ ศุภผล โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย

เรื่อง การยกที่ดินให้โดยไม่มีค่าตอบแทน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (2), 91/1(4) , 91/2 (6) , 91/10 , 91/21(6)

โจทก์จดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7848 ให้นาย อ. บุตรของพี่สาวโจทก์ โดยเสน่หา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2535 โดยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์คัดค้านโดยขอให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม มิได้โต้แย้งการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 40 และลดภาษีส่วนท้องถิ่นลงตามส่วนของเบี้ยปรับ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยให้งดเบี้ยปรับ จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ไม่ยืนแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/10 แสดงว่ามีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษีดังกล่าว ซึ่งมาตรา 89(2) ประกอบมาตรา 91/21(6) กำหนดโทษให้เสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องเสีย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นควรให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 40 ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 แต่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้งดเบี้ยปรับ จึงเป็นการลดมากเกินควร

ศาลฎีกาเห็นว่า ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็มีความเห็นตามที่เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์สรุปรายงานเสนอว่า โจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีธุรกิจเฉพาะ และมิได้มีอาชีพในทางการค้าที่ดิน เหตุน่าจะเกิดจากความไม่เข้าใจในข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของทางราชการ เพราะเป็นปีแรกที่มีการบังคับใช้กฎหมายภาษีธุรกิจเฉพาะ ในชั้นพิจารณา จำเลยก็นำสืบพยานรับรองข้อเท็จจริงดังกล่าว หากแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาลดเบี้ยปรับให้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 ซึ่งเป็นเพียงระเบียบที่เจ้าพนักงานประเมินต้องถือปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวไม่ผูกพันศาลให้ต้องปฏิบัติตามด้วย ทั้งเมื่อพิจารณาเห็นว่า โจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและเป็นปีแรกในการบังคับใช้กฎหมายภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุสมควรให้งดเบี้ยปรับทั้งหมดดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมา.

 

 

 

หมายเหตุ การที่โจทก์ยกที่ดินให้ อ. ซึ่งเป็นบุตรของพี่สาวโจทก์นั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1(4) บัญญัติว่า “ ขาย หมายถึง สัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อ... ” ดังนั้น การที่โจทก์ยกที่ดินให้ อ. จึงเป็นการขายตามประมวลรัษฎากรในหมวดของภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว สำหรับความหมายของ “ ขาย ” ในหมวดภาษีเงินได้ต้องดูตามมาตรา 39 การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ในปัจจุบันนั้น เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว การยกให้โดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นต้องเป็นการยกให้บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้โอนเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม

สำหรับการยกที่ดินให้ในเรื่องภาษีเงินได้นั้น ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 41 ทวิ บัญญัติให้ผู้โอนเป็นผู้มีเงินได้และต้องเสียภาษี ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์โดยเสน่หา ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(10)

 

สุวัฒน์ ไวยุพัฒนธ

ศาลฎีกาย่อ

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021