คำพิพากษาฎีกาที่ 4876/2548 | |
บริษัทเอ็นเอสกู๊ดวิชั่น จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3, 82/5(5),89(7) วรรคสอง | |
โจทก์เพิ่งเริ่มประกอบกิจการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2541 และจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ 25 สิงหาคม 2541 ในการเริ่มประกอบกิจการ โจทก์ต้องมีการลงทุนซื้อเครื่องใช้สำนักงานและสินค้าไว้เพื่อจำหน่าย ดังนั้น ในเดือนกันยายน 2541 การที่โจทก์มีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย 16,659.86 บาท ย่อมเป็นปกติในช่วงเริ่มต้นประกอบธุรกิจ โดยโจทก์มี ส.กรรมการผู้จัดการบริษัท อ.ที่ออกใบกำกับภาษีพิพาทให้โจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ได้จำหน่ายสินค้าและรับชำระราคาสินค้าจากโจทก์ตามใบกำกับภาษีพิพาทกับมี น.กรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เหตุที่โจทก์ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.โดยตรงเนื่องจากโจทก์เพิ่งประกอบกิจการและไม่มีเครดิตในท้องตลาด ซึ่งในช่วงนั้นผู้สั่งซื้อสินค้าจะต้องโอนเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายก่อน โจทก์ไม่มีเงินสดมากพอและรู้จักกับ ส.กรรมการผู้จัดการของบริษัท อ.ที่สามารถหาสินค้ามาขายให้โจทก์ได้ โจทก์จึงตกลงซื้อสินค้าจากบริษัท อ. จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ซื้อสินค้าจากบริษัท อ.และมีการชำระเงินตามใบกำกับภาษีพิพาท ใบกำกับภาษีพิพาทจึงเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถนำมาหักเป็นภาษีซื้อในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 และ 82/5(5) แห่ง ป.รัษฎากรฯ ได้ ศาลภาษีอากรกลาง/ย่อ
หมายเหตุ เหตุที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าใช้ใบกำกับภาษีไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบริษัท อ. ผู้ขายสินค้าให้โจทก์มิได้ยื่นแบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและสถานประกอบการค้าปิด โจทก์ชำระค่าสินค้าเป็นเงินสด ซึ่งพฤติการณ์จะมีลักษณะใกล้เคียงกับกลุ่มบุคคลที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอมทั่วไป แต่กรณีของโจทก์สามารถนำสืบถึงข้อเท็จจริงได้คือ 1. สาเหตุที่ต้องชำระค่าสินค้าด้วยเงินสด 2. โจทก์ซื้อสินค้าจากบริษัท อ. และนำสืบให้เห็นว่าบริษัท อ. ซื้อสินค้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. 3. โจทก์นำสืบให้เห็นว่า โจทก์ขายสินค้าให้บุคคลใด เมื่อโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงได้ดังกล่าว ศาลภาษีอากรกลาง และศาลฎีกาจึงรับฟัง ข้อเท็จจริงว่า ใบกำกับภาษีที่โจทก์นำมาใช้ในการคำนวณภาษีเป็นใบกำกับภาษีที่ชอบด้วยกฎหมาย นายสุวัฒน์ ไวยุพัฒนธี | |