คำพิพากษาฎีกาที่5774/2539 | |
บริษัท แอร์ อินเดีย จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง นิติบุคคลต่างประเทศ | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 67 | |
โจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารและขนของระหว่างประเทศ โจทก์ทำสัญญาแต่งตั้งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ. เป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสารของโจทก์ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว ตัวแทนของโจทก์จะต้องขายตั๋วโดยสารเครื่องบินตามราคาที่โจทก์กำหนดให้ขาย ซึ่งโจทก์จะกำหนดไว้ต่ำกว่าราคาที่ระบุไว้หน้าตั๋ว โดยตัวแทนจะได้ค่าตอบแทนการขายในอัตราร้อยละ 5 ของราคาที่โจทก์กำหนดให้ตัวแทนขาย และ ร้อยละ 3 ในกรณีที่ผู้โดยสารเดินทางโดยใช้สายการบินหลายบริษัท ดังนี้ การที่โจทก์ตกลงให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ตัวแทนของโจทก์ขายตั๋วเครื่องบินในตาคาที่โจทก์กำหนด และตัวแทนก็ได้ขายตั๋วเครื่องบินในราคาที่โจทก์กำหนด ดังนั้น ผลต่างระหว่างราคาที่ระบุในตั๋วโดยสารเครื่องบินกับราคาที่โจทก์กำหนดให้ขายจึงไม่เป็นรายได้ที่โจทก์ได้รับ จะนำผลต่าง ดังกล่าวมาเป็นรายรับของโจทก์ด้วยไม่ได้ รายได้ของโจทก์คงมีเพียงเท่าราคาที่โจทก์กำหนดให้ตัวแทนขาย ทั้งโจทก์ก็ได้นำรายได้ดังกล่าวทั้งหมดมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 3 โดยมิได้หักค่าบำเหน็จที่จ่ายให้ตัวแทนออกก่อน จึงเป็นการเสียภาษีจากรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 แล้ว หมายเหตุ ก่อนมีคำพิพากษาศาลฎีกานี้ มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 209/2531 ระหว่างแอร์โรว์โฟลว์ โซเวียต แอร์ไลน์ โจทก์ กรมสรรพากร จำเลย แต่คดีดังกล่าวโจทก์กำหนดราคาตั๋วที่จะขายให้ตัวแทนโจทก์ในราคาต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว แต่ตัวแทนจะไปขายในราคาเท่าใดก็ได้ไม่เกินราคาหน้าตั๋ว ดังนั้น ราคาตั๋วที่ขายให้ผู้โดยสารจึงเป็นราคาที่ไม่แน่นอน เพราะการขายแต่ละครั้งอาจไม่เท่ากัน และเมื่อตกลงขายตัวให้ผู้โดยสารแล้ว ผู้แทนจะออกใบสั่งถึงโจทก์เพื่อออกตั๋วเครื่องบินให้แก่ผู้โดยสาร ส่วน ผลต่างระหว่างที่โจทก์ตกลงขายกับราคาที่ตัวแทนขายไปจริง โจทก์ตกลงให้เป็นบำเหน็จตอบแทนแก่ตัวแทนผู้ขาย ดังนั้น ราคาตั๋วเครื่องบินที่ขายไปจริงจึงสูงกว่าราคาที่โจทก์กำหนด ซึ่งก็ไม่แน่นอนว่าจะสูงกว่าเม่าไร เมื่อเป็นเช่นนี้การที่โจทก์นำราคาตั๋วเครื่องบินที่โจทก์กำหนดให้ขายไปคำนวณเสียภาษีเงินได้ จึงมิได้คิดจากราคาค่าโดยสารที่แท้จริง หากแต่เป็นราคาค่าโดยสารที่โจทก์กำหนดหักด้วยบำเหน็จที่ตอบแทนให้แก่ตัวแทนขาย ซึ่งบำเหน็จตอบแทนนี้ถือเป็นรายจ่ายอย่างหนึ่ง การเสียภาษีเงินได้ของโจทก์ในคดีดังกล่าว จึงเป็นการเสียภาษีเงินได้จากฐานรายได้หักด้วยค่าใช้จ่ายก่อน ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 อีกด้วย |