คำพิพากษาฎีกาที่2965/2540 | |
บริษัท เบ็ญจมาศ จำกัด | โจทก์ |
กองทัพบก | จำเลย |
เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 80 | |
โจทก์ยื่นใบเสนอราคาค่าก่อสร้าง และต่อมาได้ทำสัญญากับจำเลยซึ่งเป็นส่วนราชการขณะที่ประมวลรัษฎากรในหมวดภาษีการค้ายังใช้บังคับอยู่ ในใบรายละเอียดการเสนอราคาค่าก่อสร้างโจทก์ได้ระบุว่ามีค่าภาษีและอากรรวมอยู่ด้วยจำนวน 2,055,789 บาท ขณะนั้นโจทก์เป็นผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นอัตราร้อยละ 3.3 จึงมีการคำนวณภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นรวมอยู่ในค่าจ้าง ในการชำระราคาค่าจ้างจำเลยจะหักภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นไว้ ณ ที่จ่าย โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินจำนวนนี้ เพราะต้องกันไว้เป็นค่าภาษีและค่าภาษีนั้นยังมีอยู่ ดังนั้น แม้ต่อมาจะเปลี่ยนมาใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยอัตราร้อยละ 7 ก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้ค่าจ้างส่วนที่โจทก์คำนวณรวมภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นไว้อัตราร้อยละ 3.3 จึงชอบที่จะนำภาษีดังกล่าวมาหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่ม คงเป็นภาษีที่จะเรียกจากจำเลยร้อยละ 3.7
หมายเหตุ คดีนี้ โจทก์ยื่นใบเสนอราคาค่าก่อสร้าง และทำสัญญากับจำเลยขณะที่ภาษีการค้ายังใช้บังคับอยู่ คู่สัญญาตกลงจ่ายค่าจ้างกันเป็นงวด ๆ รวม 7 งวด ต่อมาในขณะที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จได้มีการนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้บังคับแทนภาษีการค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 อัตราภาษีร้อยละ 7 ประมวลรัษฎากร มาตรา 78/1 (2) ประกอบกับมาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของการบริการเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการตามส่วนของการบริการที่สิ้นสุดง ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยสำหรับค่าจ้างที่โจทก์ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ได้นำค่าจ้างที่ได้รับจากจำเลยดังกล่าวไปยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องนำรายรับนี้ไปยื่นเสียภาษีการค้าซ้ำอีก ดังนั้น โจทก์จึงยื่นคำร้องขอคืนภาษีการค้า และภาษีบำรุงท้องถิ่นที่ถูกจำเลยหักไว้ ณ ที่จ่าย คืนจากกรมสรรพากร และโจทก์ได้รับคืนภาษีจากกรมสรรพากรแล้ว เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลย ศาลฎีกาจึงให้นำภาษีการค้าและบำรุงท้องถิ่นที่โจทก์ได้รับคืนมาหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว คงเหลือภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์จะเรียกเก็บได้เพียงร้อยละ 3.7 เท่านั้น | |