เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่3697/2543 
บริษัท ซับนกแก้ว จำกัด โจทก์

นางเอมอร ปทุมารักษ์ กับพวก

จำเลย
เรื่อง การประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 88 (2)(3) 88/2(3)

คู่ความรับกันว่าเดือนมกราคม 2539 โจทก์มียอดยกมาขวดเปล่าของน้ำดื่มบรรจุขวด จำนวน 38,812 ขวด ระหว่างเดือนซื้อมาจำนวน 258,378 ขวด รวมขวดเปล่า 297,190 ขวด โจทก์ได้เบิกความว่าทำการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดในเดือนมกราคม และได้ส่งไปขายทั้งในและต่างประเทศแล้ว มียอดขวดเปล่าเหลือยกไปเดือนกุมภาพันธ์ 2539 จำนวน 196,750 ขวด แต่เจ้าพนักงานประเมินไม่เชื่อว่าโจทก์มีขวดเปล่าจำนวนดังกล่าว แต่เชื่อว่าโจทก์มีขวดเปล่าเท่าใดในเดือนใดก็ควรจะมีกำลังผลิตเท่านั้น โดยยอมให้โจทก์หักขวดเปล่าสูญเสียได้ร้อยละ 5 เจ้าพนักงานได้ปรับปรุงการคำนวณรายรับใหม่เป็นว่า โจทก์ขายน้ำดื่มบรรจุขวดในประเทศไทย 147,518 ขวด ราคาขวดละ 2 บาท คิดเป็นเงิน 295,036 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ได้นำไปปรับปรุงคำนวณค่าภาษีของโจทก์ ดังนี้ สำหรับราคาขายโจทก์ให้การไว้ว่า ได้ขายในราคาขวดละ 2 บาท ส่วนที่โจทก์อ้างว่าขายโหลละ 20 บาท โจทก์ก็ไม่เคยให้การต่อเจ้าหน้าที่ทั้งที่สามารถให้การได้ สำหรับขวดเปล่าเหลือยกไปเดือนกุมภาพันธ์ 2539 จำนวน 196,750 ขวด ตามที่โจทก์อ้าง มีพิรุธหลายอย่าง อย่างกรณีโจทก์มีขวดเปล่าเหลือในเดือนธันวาคม 2538 เพียง 38,812 ขวด เดือนมกราคม 2539 โจทก์สั่งซื้อขวดเปล่าอีกถึง 14 ครั้งหากยังมีขวดเปล่าเหลืออยู่มาก โจทก์ก็ไม่ควรสั่งซื้อขวดเปล่ามากครั้งเพียงนั้น ควรต้องหยุดสั่งซื้อเพื่อใช้ขวดเปล่าให้เหลือแต่น้อย เสียก่อนและประการสำคัญบัญชีรายงานสินค้าและวัตถุดิบเดือนมกราคม 2539 มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยที่โจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมเพราะเหตุใด จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเอกสารที่ลงไว้ตามความเป็นจริง อีกทั้ง กรณีโจทก์ระบุยอด ขวดเปล่าสูญเสียไว้ร้อยละ 19 โดยอ้างว่า ได้คืนขวดไปยังบริษัทผู้ขายและบริษัทผู้ขายได้ส่งขวดเปล่าสูญเสียไว้ร้อยละ 19 โดยอ้างว่า ได้คืนขาดไปยังบริษัทผู้ขายและบริษัทผู้ขายได้ส่งขวดเปล่าที่ดีมาทดแทนให้แล้ว แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานการคืนขวดเปล่าส่งต่อเจ้าพนักงานตรวจสอบและศาล อีกทั้งโจทก์ได้แสดงรายการยอดขายไว้ต่ำกว่าคำให้การจำนวนมาก ดังนี้ เชื่อว่า โจทก์มียอดขายน้ำดื่มบรรจุขวดในดือนมกรรคม 2539 มากกว่าที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ การที่ เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า โจทก์ยื่นแบบโดยแสดงยอดขายและจำนวนภาษีที่ต้องเสียต่ำกว่าความเป็นจริงและอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88 (2) , 88/2(3) ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนมกราคม 2539 พร้อมเบี้ยปรับให้โจทก์ชำระเพิ่มโดยหักขวดเปล่าสูญเสียร้อยละ 5 และคิดราคาน้ำดื่มบรรจุขวด ๆ ละ 2 บาท จึงชอบแล้ว สำหรับจำนวนขวดเปล่าเพื่อยกยอดไปเดือนถัดไปนั้น ในเดือนธันวาคมรับกันว่า มียอดยกไปจำนวน 38,812 ขวด โดยเจ้าพนักงานประเมินยอมรับให้นำขวดเปล่าจำนวนนี้ไปรวมกับยอดซื้อใหม่ระหว่างเดือนเป็นยอดรวมที่ใช้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดของเดือนมกราคม 2539 ด้วย จึงเห็นควรให้คิดขวดเปล่าเหลือเท่ากับเดือนธันวาคม เมื่อหักขวดเปล่าเหลือออกแล้วเหลือน้ำดื่มขายในประเทศ จำนวน 108,706 ขวด โจทก์จึงต้องเสียภาษีจากจำนวนดังกล่าว

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021