คำพิพากษาฎีกาที่ 7331/2548 | |
นางนุชรัตน์ จริยะกุลชัยพงศ์ | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง การโอนอสังหาริมทรัพย์ | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 มาตรา 6 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2543 มาตรา 8 ทวิ การโอนทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 หมายความถึงเฉพาะการโอนทรัพย์สิน หลักประกันที่กระทำระหว่างลูกหนี้ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงการโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้แก่บุคคลภายนอกด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่ต่อมามีการออกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2543 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีบทบัญญัติให้เพิ่มบทมาตราในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 เป็นมาตรา 8 ทวิ ซึ่งมีความตามวรรคหนึ่งว่า "ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้อื่นซื้อ มิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน " โดยในหมายเหตุท้ายพระราชกฤษฎีการะบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับหลังนี้ว่า เพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่โอนอสังหาริมทรัพย์ที่นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินได้ที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์มาชำระหนี้สถาบันการเงิน และยังปรากฏความตามมาตรา 8 ทวิ ที่ให้เพิ่มเติมขึ้นนี้ในวรรคสองว่า "การโอนอสังหาริมทรัพย์ ตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นการกระทำในระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกาออกความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นอากร (ฉบับที่ 373) พ.ศ.2543 มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 " แสดงให้เห็นชัดว่า การที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินโอนทรัพย์สินแก่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สถาบันการเงินนั้น เดิมตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ.2542 ไม่มีเจตนารมณ์ให้ได้รับยกเว้นภาษีอากรแต่อย่างใด จนต่อมาเมื่อเห็นว่า ควรได้รับ ยกเว้น จึงออกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นอากร (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2543 ขึ้นเพื่อให้ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อมีการโอนนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับเท่านั้น โจทก์ขายที่ดินหรือโอนทรัพย์สินให้แก่บุคคลภายนอกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นอากร (ฉบับที่ 373) พ.ศ.2543 มีผลใช้บังคับ จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะ ได้รับยกเว้นภาษีอากร เมื่อโจทก์ชำระภาษีเงินได้และอากรไปย่อมเป็นการถูกต้อง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากรที่โจทก์ชำระไปแล้วแก่โจทก์ แล้วต่อมามีหนังสือแจ้งการยกเลิกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากรนั้น จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย | |