เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1057/2549 
บริษัทเอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์แอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โจทก์

บริษัทเยาววงศ์ จำกัด

จำเลย
เรื่อง การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 83/5

พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239)ฯ มาตรา 3 (6)

โจทก์รับจ้างองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ให้ดำเนินการขายอสังหาริมทรัพย์โดยวิธีขายทอดตลาดและหรือวิธีแข่งขันราคาแบบอื่น ซึ่งจำเลยชนะการประมูลสิทธิการเช่าสำนักงานอันเป็นทรัพย์สินของ บริษัท ก. จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าทรัพย์ดังกล่าว และได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์ในฐานะ ผู้ทอดตลาดได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มแก่กรมสรรพากร

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 มาตรา 3 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษี มูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 321) พ.ศ.2541 บัญญัติว่า “ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการขายสินค้าดังต่อไปนี้... (6) การขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน” ซึ่งตามท้ายพระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 321) นี้ได้ให้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของปรส.ในอันที่จะแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินและฟื้นฟูฐานะของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ รวมทั้งลดภาระของปรส.ในการดำเนินการด้านภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการขายทรัพย์สินหรือการให้บริการขององค์การ สมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายทรัพย์สินหรือการให้บริการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ ดังนี้ เมื่อพิจารณามาตรา 3(6) ประกอบกับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แล้วจะเห็นได้ว่ารัฐต้องการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในการขายทรัพย์สินที่ดำเนินการโดยปรส. เพื่อสนับสนุนและลดภาระให้แก่ ปรส.ในอันที่จะแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินให้ได้ผลสำเร็จโดยเร็ว และเนื่องจากปรส. จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการในกรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ เมื่อนำเอาวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งปรส.ขึ้นมาพิจารณาประกอบด้วยแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าการขายทรัพย์สินของปรส. หมายความว่า การขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการโดยปรส. หาใช่หมายความว่า ทรัพย์สินที่ขายเป็นกรรมสิทธิ์ของปรส.ไม่ ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าปรส.ได้จัดการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัท ก. ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการแล้วนำสิทธิการเช่าที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของบริษัท ก. ออกขายทอดตลาดแม้จะเป็นการว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ดำเนินการขายทอดตลาดแทนก็ต้องถือว่าเป็นการดำเนินการขายโดยปรส.นั้นเอง การขายเช่นนี้ย่อมมีผลให้บริษัท ก. มิต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ฉะนั้นโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร และแม้จำเลยจะมีข้อตกลงกับโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าว่าจำเลยจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระภาษีต่างๆ แทนโจทก์ แต่เมื่อบริษัท ก. ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องให้จำเลยรับผิดชอบแทน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากร

ศาลภาษีอากรกลาง/ย่อ

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021