คำพิพากษาฎีกาที่1480/2549 | |
บริษัทดี ที อโกรซิสเต็ม จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง การประเมินภาษี | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 มาตรา 71 มาตรา 82/5 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 | |
อุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์ไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีได้เนื่องจากผู้รับจ้างจัดทำบัญชี ไม่ยอม ส่งมอบบัญชีและเอกสารคืนโจทก์ และโจทก์ไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีจากผู้ออกใบกำกับภาษี ได้เพราะโจทก์ไม่ทราบว่ามีใบกำกับภาษีอะไรบ้างนั้น มิใช่กรณีที่ใบกำกับภาษีถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยและไม่ใช่กรณีที่โจทก์ไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีได้ เนื่องจากผู้ออกใบกำกับภาษีไม่สามารถออก ใบแทนใบกำกับภาษีได้เพราะเหตุสุดวิสัย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะนำ ภาษีซื้อ มาหักภาษีขายเพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดง รายการ ตามแบบที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้องตามความจริงจึงออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควร แก่เรื่องมาแสดงตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร แต่โจทก์ส่งเพียงเอกสารบางส่วนจากพนักงาน สอบสวน ไปให้เจ้าพนักงานประเมิน เมื่อข้อความตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 71 (1) มิได้ หมายความว่า เจ้าพนักงานประเมินจะใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 71 (1) ได้เฉพาะกรณีที่บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมิได้นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานใดๆ มาแสดงต่อเจ้าพนักงาน แต่ยังหมายความรวมถึงกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานใด ๆ มายื่นต่อเจ้าพนักงานแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอแก่การคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิด้วย เมื่อโจทก์ประกอบกิจการขายสินค้าเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี จึงต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ประกอบธุรกิจของโจทก์ หากจะเก็บไว้ ณ สถานที่อื่นโจทก์จะต้องขออนุญาตต่อสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมทะเบียนการค้ากำหนดตามข้อ 13 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 285 ฯ การที่โจทก์มอบเอกสารหลักฐานทางบัญชีให้ผู้รับจ้างจัดทำบัญชีนำไปเก็บไว้ ณ สำนักงานบัญชี โดยไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมาย ย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 โจทก์จึงอ้างเอาเหตุที่ผู้รับจ้างจัดทำบัญชีไม่ยอมส่ง เอกสารคืนโจทก์มาเป็นเหตุที่จะปฏิเสธไม่ส่งเอกสารให้เจ้าพนักงานตรวจสอบไม่ได้ และการที่โจทก์ไม่ สามารถ ส่งเอกสารให้เจ้าพนักงานตรวจสอบดังกล่าวมิใช่เหตุสุดวิสัย แม้ในที่สุดโจทก์จะสามารถนำเอกสารบางส่วน จากพนักงานสอบสวนส่งไปให้เจ้าพนักงานตรวจสอบ แต่เอกสารบางส่วนดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะคำนวณหากำไรขาดทุนสุทธิได้ เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากรได้. |