เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่3419/2549 
ห้างหุ้นส่วนจำกัดพรไพรสุไหงโก-ลก โจทก์

กรมสรรพากร กับพวก

จำเลย
เรื่อง การรับฟังพยานหลักฐาน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 79 มาตรา 79/3 มาตรา 88/6

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายไม้แปรรูป โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2537 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2537 ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 เห็นว่าราคาขายสินค้าไม้แปรรูปที่โจทก์แสดงในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีทั้ง 12 เดือนนั้นต่ำกว่าราคาที่ประกาศกรมศุลกากรกำหนดเพื่อเป็นเกณฑ์ ประเมินอากรขาเข้า จึงถือว่าราคาขายของโจทก์ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร และประเมิน ยอดขาย ของโจทก์ในแต่ละเดือนภาษีทั้ง 12 เดือนนั้นใหม่ โดยถือเอาราคาที่ประกาศกรมศุลกากรกำหนดเพื่อเป็น เกณฑ์ประเมินอากรขาเข้าเป็นราคาขายของโจทก์ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เห็นว่า แม้ภาษีมูลค่าเพิ่มรายพิพาทจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้า ซึ่งฐานภาษี ได้แก่มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เกิดขึ้น และมูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น โดยราคาตลาดให้ถือราคาเฉลี่ยของ ราคา ตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้นตามที่ได้มีการตรวจสอบราคา ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดและในกรณีที่ไม่อาจทราบราคาตลาดได้แน่นอนให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศใช้เกณฑ์คำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งราคาตลาดได้ ตามที่บัญญัติในมาตรา 79 และ มาตรา 79/3 แห่งประมวลรัษฎากร ต่างกับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าซึ่งฐานภาษีได้แก่มูลค่าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. (ราคา ซี.ไอ.เอฟ.ได้แก่ราคาสินค้าบวกด้วยค่าประกันภัยและค่าขนส่งถึงด่านศุลกากร ที่นำสินค้านั้นเข้าในราชอาณาจักร ) บวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ค่าธรรมเนียมพิเศษและค่าธรรมเนียม อื่น เว้นแต่ในกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศให้ราคาในท้องตลาดสำหรับของประเภทใดประเภทหนึ่งที่ต้องเสียอากรตามราคาเป็นรายเฉลี่ยตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร หรือในกรณีที่เจ้าพนักงานศุลกากร ได้ทำการประเมินราคาเพื่อเสียอากรขาเข้าใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคา สินค้า ในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ. ตามที่บัญญัติในมาตรา 79/2 แห่งประมวลรัษฎากร และบันทึกข้อความของจำเลยที่ 1 ที่ กค 0804/ว.00986 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการกำหนดมูลค่า ฐานภาษีอากรขายเฉพาะสินค้าไม้แปรรูปและเครื่องยนต์เก่าที่นำเข้า

แต่โดยที่มาตรา 88(2) และ 88/6 แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมี อำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานแสดงว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบ แสดง รายการภาษีโดยแสดงจำนวนภาษีที่ต้องเสียต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง การที่ เจ้าพนักงานประเมินพบหลักฐานว่าสินค้าไม้แปรรูปที่โจทก์ขายนั้น โจทก์เป็นผู้นำเข้า และได้เสียอากรขา เข้าตามกฎหมายศุลกากรกับเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าตามประมวลรัษฎากร โดยราคาสินค้าที่ใช้เป็น ฐานในการคำนวณอากรและภาษีดังกล่าวสูงกว่าราคาที่โจทก์ขายและใช้เป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการ ขายสินค้า จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานและมีเหตุอันควรเชื่อว่า โจทก์ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าราคา ตลาดโดย ไม่มีเหตุอันควร และมีอำนาจทำการประเมินได้ สำหรับราคาตลาดของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น เป็นจำนวนเท่าใด เป็นข้อเท็จจริงที่ทั้งเจ้าพนักงานประเมินและโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีต่างมีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของตน ราคาสินค้าที่ประกาศกรมศุลกากรกำหนดเพื่อเป็นเกณฑ์ ประเมินอากรขาเข้าดังกล่าวเพียงแต่นำมาถือเป็นราคาตลาดในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขาย สินค้าเป็น เด็ดขาดทำนองเดียวกับการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าไม่ได้เท่านั้น หาได้มีความ หมายถึง ขนาดว่านำมาเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์หรือกำหนดราคาตลาดในการเรียกเก็บภาษีมูลเพิ่มสำหรับการขาย สินค้าไม่ได้ด้วยไม่ เพราะราคาสินค้าที่ประกาศกรมศุลกากรกำหนดเพื่อเป็นเกณฑ์ประเมินอากรขาเข้าเป็นข้อเท็จจริง อย่างหนึ่ง และราคาเช่นว่านั้นอาจเท่ากับราคาตลาดสำหรับการขายสินค้าในขณะนั้นก็ได้ เมื่อโจทก์รับ ข้อเท็จจริง ว่าสินค้าไม้แปรรูปรายพิพาทโจทก์เป็นผู้นำเข้าและได้เสียอากรขาเข้าตามกฎหมายศุลกากรกับเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการนำเข้าตามประมวลรัษฎากร โดยถือราคาสินค้าตามที่ประกาศกรมศุลกากรกำหนดเพื่อเป็นเกณฑ์ประเมินอากรขาเข้าเป็นฐานในการคำนวณอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ในเบื้องต้นว่า สินค้าไม้แปรรูปพิพาทมีราคาตลาดในวันที่โจทก์นำเข้าตามที่ประกาศกรมศุลกากรกำหนด การที่โจทก์ปฏิเสธว่าราคาเช่นนั้นไม่ถูกต้อง โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ความดังที่กล่าวอ้าง พยานหลักฐานของโจทก์คงมีแต่หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นพยานบุคคลปากเดียวเบิกความลอยๆ ว่าราคาที่โจทก์ขายเป็นราคาที่ โจทก์ซื้อมาบวกกำไรที่เหมาะสม และเป็นราคาตลาดแท้จริง ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าราคาที่โจทก์ซื้อเป็น เท่าใด กำไรที่เหมาะสมเป็นอย่างไร จำนวนใดหรืออัตราเท่าใด และไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าราคาขายของโจทก์เป็นราคาตลาดในขณะนั้น และที่พยานโจทก์เบิกความถึงล้วนเป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเอง ซึ่งจำเลยทั้งสี่ปฏิเสธว่าไม่ถูกต้อง จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่ ที่ศาลภาษีอากรกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ขายสินค้าไม้แปรรูปรายพิพาทในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย

ประเด็นที่สอง ควรงดเบี้ยปรับแก่โจทก์หรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ลดเบี้ยปรับแก่โจทก์ คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อย ละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรยังไม่เห็นควรแก้ไขเปลี่ยนแปลง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชองแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021