เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่3592/2549 
บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 3 , 91/1(4) , 91/2(6)

การที่โจทก์ใช้ที่ดินของโจทก์เป็นที่ตั้งศูนย์บริการลูกค้าของโจทก์ ย่อมแสดงว่าที่ดินนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ และตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1(4) บัญญัติความหมายของคำว่า “ ขาย ” ว่า หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่าย จ่าย โอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ตามบทนิยามดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อขยายทางหลวงเทศบาล สายรามคำแหงตอนสะพานข้ามคลองลาดบัวขาวบรรจบถนน สุวินทวงศ์ พ.ศ.2537 และการที่โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่กรุงเทพมหานครเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วย การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ก็ตาม ก็ยังเป็นการโอน จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/4

แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 91/4 การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักรให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้...(6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ออกโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวและใช้บังคับในขณะนั้น มาตรา 3 บัญญัติว่า ให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากรมีดังต่อไปนี้...(5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการแต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้นั้นใช้ในเกษตรกรรมก็ตาม แต่เป็นที่เห็นได้ชัดว่าทรัพย์ดังกล่าวโจทก์จำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการ เพราะต้องใช้เป็นศูนย์บริการลูกค้า ไม่ใช่มีไว้ เพื่อขาย ประกอบกับการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาออกมากำหนดให้ที่ดินที่โอนนั้นอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งหากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน ดังนี้ การที่โจทก์ยอมตกลงโอนที่ดินภายใต้สภาพบังคับเช่นนี้ย่อมไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ กรณีของโจทก์เช่นนี้ จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

ศาลภาษีอากรกลาง/ย่อ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021