เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 7730/2548 
บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง คำสั่งทางปกครอง
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5

โจทก์ฟ้องเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์ โดยโจทก์ฟ้องว่าหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้แสดงข้อกล่าวหาโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง เนื่องจากภาษีซื้อที่นำมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/5 กรณีใด ตามที่กำหนดไว้ใน (1) ถึง (2) จึงเป็นการกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย ทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่สามารถอุทธรณ์หรือฟ้องคดีได้โดย ถูกต้อง และบรรยายฟ้องในประเด็นอื่นอีก

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ให้ความหมายของ “ คำสั่งทางปกครอง ” ว่า 1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ ไม่หมายรวมถึงการออกกฎ 2) การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นคำสั่งของ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งมีผลในอันที่จะก่อนิติสัมพันธ์ขึ้น และมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลระหว่างจำเลยกับโจทก์ โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากร หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 2 ฉบับ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองและต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วยและเหตุผลนั้น อย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ 2) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง 3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ ” ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิเคราะห์หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 2 ฉบับ ในคดีนี้แล้ว แม้จะปรากฏมีข้อความแสดงรายละเอียดถึงเดือนภาษี ยอดขาย ภาษีขาย ยอดซื้อ ภาษีซื้อ การคำนวณภาษีมีตัวเลขเปรียบเทียบรายการตามแบบแสดงรายการที่โจทก์ยื่นไว้กับผลการตรวจสอบโดยแสดงยอดแตกต่างไว้ แต่หาได้มีข้อความแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีซื้อว่ารายการใดที่ต้องห้ามมิให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งข้อกฎหมายที่อ้างอิงให้ชัดเจนไว้ด้วยไม่ กรณีถือว่าหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวมิได้จัดให้มีเหตุผลในการประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ เป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง เมื่อหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 2 ฉบับ เป็นการแจ้งการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมาการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งโจทก์อุทธรณ์การประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 2 ฉบับ นั้น ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและต้องเพิกถอนไปด้วย คดีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นอีกต่อไป

ศาลภาษีอากรกลาง/ย่อ

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021