เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1412/2549
บริษัท แป้งมันตะวันออก(1987) จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง รายจ่ายต้องห้าม การออกหมายเรียก อำนาจประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 30 มาตรา 65 ทวิ (1) มาตรา 65 ตรี (3) (5)

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(1) มาตรา 8

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายแป้งมันและแป้งอื่นๆ ให้แก่ลูกค้า ภายในประเทศ โจทก์เพิ่งจะเริ่มส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศในกลางปี 2535 จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องหาตลาดสินค้าในต่างประเทศล่วงหน้าถึง 2 ปี โจทก์มิใช่ผู้ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศญี่ปุ่นและโจทก์มีบริษัท บ. เป็นบริษัทในเครือและเป็นลูกค้าของโจทก์ที่รับซื้อสินค้าของโจทก์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปชี้แจงเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าในนามของโจทก์อีก การเดินทางไป ต่างประเทศของกรรมการบริษัทโจทก์กับบริษัททัวร์ ผู้เดินทางมีวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทั้งการเดินทางไปท่องเที่ยว ต้องเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ตามรายการที่กำหนดไว้พร้อมกับผู้อื่น จึงไม่น่าเชื่อว่า กรรมการโจทก์จะมีเวลาไปติดต่อหาลูกค้าเพื่อเปิดตลาดสินค้าของโจทก์ได้ทัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป ต่างประเทศ เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าทัวร์ และค่าใช้จ่ายจากบัตรเครดิตก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า เป็นค่าใช้จ่ายอะไร เกี่ยวข้องกับกิจการในทางการค้าของโจทก์อย่างไร ค่าใช้จ่ายดังกล่าว จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวและเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(3) (13) แห่งประมวลรัษฎากร

ประเด็น การออกหมายเรียกตรวจสอบชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้อง หรือไม่ เจ้าพนักงานฯ ออกหมายเรียกเลขที่ กค 0813/(ก)/1191 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 เพื่อตรวจสอบภาษีอากร โจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 ถึง 2532 และมีหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ ที่ กค 0813/199 ลงวันที่ 21 มกราคม 2537 แจ้งให้ โจทก์ทราบแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาเจ้าพนักงานฯ ออกหมายเรียกเลขที่ ต.3/18/2537 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2537 เพื่อตรวจสอบภาษีอากรโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 และประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2533 โดยให้โจทก์ชำระภาษีรวมเป็นเงิน 2,092,309.39 บาท และ แจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และนำคดีมาฟ้องโดยอ้างว่าจำเลยออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีของโจทก์โดยมิชอบ 2 ครั้ง เนื่องจากเลยระยะเวลา 2 ปี นับแต่ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการออกหมายเรียกไม่ใช่การประเมินภาษีที่โจทก์จะต้องโต้แย้งคัดค้านหรือ อุทธรณ์ ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนจึงจะนำคดีมาสู่ศาลได้ จึงไม่มีผลบังคับให้โจทก์จะต้องอุทธรณ์โต้แย้ง คัดค้านหนังสือดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอน หนังสือ ที่ กค 0813/199 ลงวันที่ 21 มกราคม 2537

 

ประมวลรัษฎากรมาตรา 19 บัญญัติว่า กรณีเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใด แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ ออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวนและออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำ บัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้... และตามมาตรา 20 บัญญัติว่า เมื่อได้จัดการตามมาตรา 19 และทราบข้อความแล้ว เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการ ไว้เดิมโดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏและแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระอีก ไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ เมื่อพิจารณาถ้อยคำตามตัวบทในสองมาตรานี้ประกอบกันแล้ว เห็นว่า การออกหมายเรียกเป็นขั้นตอนหนึ่งของการประเมิน หากโจทก์เห็นว่าการออกหมายเรียก ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างใดก็ชอบที่จะโต้แย้งคัดค้านโดยอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งการประเมินตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต้องถือว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องชอบด้วย กฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินเพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษี อากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(1) และ 8

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021