คำพิพากษาฎีกาที่ 7562/2544 | |
กรมสรรพากร | โจทก์ |
บริษัท การไฟฟ้าบางละมุง จำกัด กับพวก | จำเลย |
เรื่อง สัญญาค้ำประกัน | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 | |
จำเลยที่ 1 ประสงค์จะขอทุเลาภาษีซึ่งตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 กำหนดให้นำหลักทรัพย์ไปประกันหนี้ภาษีอากรอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1 โฉนดที่ดินมีราคาเป็น 2 เท่า ของเงินภาษีที่ค้างชำระโดยจำนองแก่ทางราชการ หรือ 2 จัดให้มีธนาคารค้ำประกัน จำเลยที่ 2 เข้ามาทำหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์ ทั้งสองไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 มีหนังสือสอบถามโจทก์ที่ 1 ถึงการที่จำเลยที่ 2 ขอเป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ที่ 1 มีหนังสือตอบว่า การค้ำประกันดังกล่าวไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์ที่ 1 วางไว้ขอให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนจำนองให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่า การค้ำประกันโดยไม่นำหลักทรัพย์ไปจดทะเบียนจำนองไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง หรือหากไม่จดทะเบียนจำนองก็ต้องจัดให้มีธนาคารมาค้ำประกัน แสดงว่า โจทก์ที่ 1 มิได้ตกลงยอมรับการค้ำประกันของจำเลยที่ 2 แต่ประการใด แม้โจทก์ ที่ 1จะเคยมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 แจ้งว่าได้อนุมัติให้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรได้ แต่หนังสือก็ได้ระบุว่าจะต้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ที่ 1 การแจ้งอนุมัติดังกล่าวจึงมิใช่การยอมรับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 จัดส่งให้แก่โจทก์ทั้งสอง พฤติการณ์ที่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมรับหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 และติดตามจำเลยทั้งสองให้มาทำสัญญาจำนองหรือหาหลักประกันอื่นมาวางให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์ที่ 1 กำหนด ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองมิได้มุ่งประสงค์จะผูกนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 โดยเข้าถือเอาสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีมิใช่โจทก์ที่ 1 ตกลงรับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว แต่ให้จำเลยที่ 1 หาประกันเพิ่ม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน | |
|