เมนูปิด

สถานที่ตั้งกรมสรรพากร

ในระหว่างที่พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร ได้เข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2458 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2472 มีภาษีอากรประเภทสำคัญ ๆ ที่จัดเก็บอยู่หลายอย่าง คือ อากรค่านา เงินรัชชูปการ อากรสมพัดสร ภาษีค่าที่ไร่อ้อย ภาษีไร่ยาสูบ อากรสวนใหญ่ อากรสวนจาก ภาษีต้นตาลโตนด ภาษีโรงเรือน โรงร้าน ภาษีภายใน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ สถานที่ตั้งที่ทำการอยู่ที่ถนนสี่พระยา (ที่ตั้งกรมสรรพสามิตเก่า)

เมื่อพระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมารได้ออกจากราชการเนื่องจากสูงอายุแล้ว พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒน์ไชย ได้ย้ายมา เป็นอธิบดีกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2473 จนถึงวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2478 การจัดเก็บภาษีอากรในระยะนี้ คงคล้ายคลึงกับที่เป็นอยู่ในสมัยก่อน และได้เริ่มประกาศใช้กฎหมายภาษีอากรใหม่ๆอีก 5 ประเภท คือ

  • พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พ.ศ. 2475
  • พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475
  • พระราชบัญญัติภาษีการค้า พ.ศ. 2475
  • พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและประกันภัย พ.ศ. 2476
  • พระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พ.ศ. 2475

และได้ย้ายที่ ทำการไปอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2476

ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ได้มีพระบรมราชโองการฯ ย้ายพระองค์เจ้าวิวัฒน์ไชยไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรและได้ทรงแต่งตั้งหม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ระพีพัฒน์ มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2468 ระยะนี้ได้มีประกาศยกเลิกภาษีอากรต่างๆ คือ

  • พ.ร.บ.เงินรัชชูปการ พ.ศ. 2468
  • พ.ร.บ. ลักษณะเงินเก็บอากรค่านา ร.ศ.119
  • พ.ร.บ.ลักษณะเก็บภาษีค่าไร่อ้อย พ.ศ. 2464
  • พ.ร.บ.เปลี่ยนวิธีเก็บภาษียา ร.ศ.119
  • ประกาศพระราชทานยกเลิกเงินอากรสวนใหญ่ค้างเก่า และเดินสำรวจกับผลไม้ใหม่สำหรับเก็บเงินอากรสวนใหญ่ ร.ศ. 130
  • พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ พ.ศ. 2475
  • พ.ร.บ.ภาษีการค้า พ.ศ. 2475
  • ภาษีการธนาคารและการประกันภัย พ.ศ. 2476
  • พ.ร.บ.อากรแสตมป์ พ.ศ. 2475 แล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481

นับว่าเป็นการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากรครั้งสำคัญของประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2483 กรมสรรพากรได้ย้ายจากหอรัษฎากรพิพัฒน์ไปอยู่ที่วังกรมพระกำแพงเพชร (เก่า) แขวงบ้านบาตร

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2491 ได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้งหลวงอาจพิศาลกิจดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร คนที่ 4 และได้ย้ายที่ทำการกรมสรรพากร จากวังกรมพระกำแพงเพชรฯ มาอยู่ที่หัวถนนจักรพงษ์ เป็นอาคารโดดเด่นที่สุดในสมัยนั้น ครั้นปฏิบัติราชการ ณ อาคารนี้มาช่วงเวลาหนึ่ง ในสมัยของ นายหิรัญ สูตะบุตร อธิบดีกรมสรรพากรคนที่ 5 ของกรมสรรพากร ฝั่งตรงกันข้ามได้เกิดตึกที่ทำการใหม่ สูง 6 ชั้น ใช้เป็นที่ทำงานของกรมสรรพสามิต แต่ด้วยเหตุขัดข้องบางประการ กรมสรรพสามิตจำเป็นต้องย้ายที่ทำการไปอยู่ราชวัตร และได้ยกตึกที่ทำการให้กรมสรรพากร ทำให้กรมสรรพากรมีตึกที่ทำการของผู้บริหารใหม่ ณ ฝั่งตรงข้ามกับอาคารหลังเก่า เรียกโดยทั่วไปว่า ตึกใหม่ อาคารหลังใหม่ นอกจากเป็นที่เชิดหน้าชูตาในสมัยนั้น

แล้ว ตึกใหม่ยังเป็นสถานที่ทำงานของผู้บริหารของกรมสรรพากรอีกด้วย ทั้งตึกเก่าและตึกใหม่เป็นอาคารที่ทำการของกรมสรรพากรมาเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี กรมสรรพากรมีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ จนกระทั่งมีเหตุการณ์จราจลในระหว่างวันที่ 17 ถึง 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ณ บริเวณท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนินด้านโรงแรมรอยัล เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้กรมสรรพากรอาคารถูกเพลิงไหม้ชำรุดเสียหายไม่อาจใช้การได้ ข้าราชการและลูกจ้างต้องแยกย้ายกันไปปฏิบัติหน้าที่ยังสถานที่ต่างๆกันเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะสร้างกรมสรรพากรใหม่ กล่าวคือ กองอุทธรณ์ กองคดีภาษีอากร กองสืบสวนและประมวลหลักฐาน กองตรวจภาษีอากรและกองปฏิบัติการกลาง ไปอาศัยยังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย เป็นสถานที่ทำงาน ส่วนผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากร กองกฎหมาย กองคลัง กองการเจ้าหน้าที่และศูนย์ฝึกอบรม ไปอาศัยอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ณ กระทรวงการคลัง คลองประปา สามเสน เป็นสถานที่ทำงาน สำหรับกองอากรและพัสดุ กองบริหารงานกรรมวิธีภาษี กองนโยบายและแผน ไม่ได้รับผลกระทบจึงไม่เสียหาย คงปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เดิมคือ ตึกเก่า ถนนจักรพงษ์

ต่อมาอีก 6 เดือน กรมสรรพากรพิจารณาเห็นว่า สถานที่ทำงานกระจัดกระจายกันอยู่เช่นนี้ ย่อมไม่สะดวกในการบริหารงาน จึงขอเช่าอาคารที่ทำการของธนาคารทหารไทย ถนนพญาไท เขตราชเทวี และอาคารพญาไทพลาซ่า ซึ่งอยู่ติดกับอาคารธนาคารทหารไทยให้เป็นที่ทำงานของ กรมสรรพากรหน่วยงานต่างๆจึงมีโอกาสมาอยู่รวมกันอีกครั้งแต่ก็เป็นการชั่วคราว

สำหรับการก่อสร้างอาคารที่ทำการถาวรหลังใหม่ของกรมสรรพากรนั้น ได้เริ่มต้นขึ้นในสมัยนายบัณฑิต บุณยะปานะ เป็นอธิบดีกรมสรรพากร และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ซึ่งเป็นอธิบดีกรมสรรพากรระหว่างปี พ.ศ.2535-2538 ได้สานต่อโดยได้รับอนุมัติเงินงบประมาณค่าก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 1,500 ล้านบาท สถานที่ก่อตั้งอยู่ในที่ดินของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ได้เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในบริเวณซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพหลโยธิน จำนวน 19 ไร่ โดยบริษัท ดีไซน์ดีเวลลอป จำกัด เป็นผู้ออกแบบ มีอาคาร 4 หลังประกอบด้วย อาคารที่ทำการอาคารที่ทำการกรมสรรพากรในปัจจุบัน เป็นตึก 29 ชั้น อาคารศูนย์คอมพิวเตอร์สูง 8 ชั้น อาคารฝึกอบรมและที่พักผู้ฝึกอบรม เป็นตึก 7 ชั้น และ อาคารจอดรถ สูง 8 ชั้น โดยบริษัทเกษมกิจ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง และได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2537 โดย นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้นเป็นประธานในพิธี อาคารกรมสรรพากรสร้างแล้วเสร็จส่งมอบให้กรมสรรพากรเมื่อ วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2540 เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร ได้เริ่มเข้ามาทำงานตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป จนครบทุกหน่วยงาน

อาคารที่ทำการของกรมสรรพากรนี้ มีสิ่งที่ทันสมัยและน่าสนใจอยู่หลายประการกล่าวคือ ตัวอาคารทุกอาคารติดกระจก 2 ชั้น เพื่อป้องกันความร้อนเข้าสู่ภายในอาคาร โดยระบบระบายอากาศในระหว่างกระจกชั้นนอกกับชั้นในเพื่อให้เกิดความเย็น เป็นการประหยัดพลังงานภายในอาคารและยังไม่ทำให้อากาศร้อนสะท้อนไปยังบริเวณข้างเคียงอีกด้วย ระบบไฟเบอร์ออพติคเดินสายไฟใต้พรมเพื่อความทันสมัยและสวยงาม สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นโรงอาหารที่กว้างขวางและทันสมัย ธนาคาร ไปรษณีย์ สหกรณ์ ห้องพยาบาล รวมทั้งลานจอดเฮลิคอปเตอร์บนชั้นดาดฟ้าของอาคารที่ทำการ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรเมื่อเกิดความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งเป็นการรักษาความปลอดภัยในกรณีที่เกิดอุบัติภัย ก็จะสามารถเคลื่อนย้ายผู้ที่อยู่ในอาคารได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ลำดับเหตุการณ์สถานที่ตั้งของกรมสรรพากรตั้งแต่เริ่มแรกนั้นจึงเริ่มเมื่อพระยาอินทรมนตรีจันทรกุมาร เป็นอธิบดีท่านแรกของกรมสรรพากร สถานที่ตั้งของกรมอยู่ที่ถนนสี่พระยา ลำดับต่อมา พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒน์ไชย อธิบดีท่านที่ 2 ได้ย้ายที่ทำการจากถนนสี่พระยามาอยู่ที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาหม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ระพีพัฒน์ อธิบดีท่านที่ 3 ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่วังกรมพระกำแพงเพชรและในสมัยของหลวงอาจพิศาลกิจ อธิบดีท่านที่ 4 กรมสรรพากรจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ถนนจักรพงษ์ซึ่งมีเพียงตึกเก่าและได้รับมอบอาคารที่ทำการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหลัง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอาคารหลังเก่า ในสมัยของนายหิรัญ สูตะบุตร อธิบดีกรมสรรพากรท่านที่ 5 ซึ่งกรมสรรพากรใช้อาคารทั้งสองหลังนี้ (ทั้งตึกเก่าและตึกใหม่) เป็นสถานที่ทำการเป็นเวลาต่อมากว่า 30 ปี มีอธิบดีเข้ามาบริหารงาน รวม 8 ท่าน โดยนายบัณฑิต บุณยะปานะ เป็นอธิบดีท่านสุดท้ายที่ได้ใช้ตึกนี้เป็นที่ทำงานก่อนเกิดเพลิงไหม้

กรมสรรพากร ได้มีโอกาสมีอาคารที่ทำการของตนเองอีกครั้งหนึ่งด้วยดำริและความอุตสาหะวิริยะของ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล โดยได้พยายามทุกทาง ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ด้านงบประมาณ ด้านสิ่งแวดล้อม รวมตลอดถึงด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทำการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆเพื่อให้กรมสรรพากรได้มีโอกาสมีตึกที่ทำการเป็นของตนเอง และเมื่อได้ก่อสร้างเสร็จแล้วก็สามารถรองรับส่วนราชการใหม่ที่เกิดขึ้นจากการแบ่งส่วนราชการในปี พ.ศ. 2539 ได้ทันท่วงที ซึ่งได้มีการย้ายเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา

ที่มา :: หนังสือที่ระลึกในการเปิดอาคารกรมสรรพากร 2 กันยายน 2540

 

ปรับปรุงล่าสุด: 27-06-2020