ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครอง โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งกระทรวงต่างๆขึ้นแล้วนั้น เกิดมีปัญหาเรื่องเงินค่าใช้จ่าย เงินเดือนข้าราชการ ค่าใช้สอย เงินสำหรับปลูกสร้างสถานที่ราชการและบ้านพักข้าราชการตามมณฑล กระทรวงพระคลังในสมัยนั้นไม่มีเงินพอจ่าย เงินส่วนมากยังติดค้างอยู่กับเจ้าภาษีนายอากรและเจ้าขุนมูลนายต่างๆ การจัดเก็บเงินรายได้ตามจังหวัดต่างๆยังหละหลวมไม่รัดกุม มีทางรั่วไหลอยู่มาก วิธีการจัดเก็บก็ล้าสมัย เมื่อได้ตั้งกระทรวงขึ้นแล้ว กระทรวงที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีก็ล้าสมัย เมื่อได้ตั้งกระทรวงขึ้นแล้ว กระทรวงที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีไม่สามารถจัดเก็บหรือปฏิบัติงานให้ดำเนินไปตามความประสงค์ของรัฐบาลได้ ก็ส่งให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงต้องรับภาระเป็นตัวแทนของกระทรวงพระคลัง ในการจัดหาเงินผลประโยชน์และเร่งรัดเงินค้าง ฉะนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องแสวงหาคนที่มีความรู้ความสามารถตลอดจนความชำนาญงานมาปรับปรุงแก้ไข และดำเนินการจัดเก็บภาษีให้สัมฤทธิผลสมความมุ่งหมาย ชาวต่างประเทศที่มาช่วยงานในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติมีดังนี้ คือ
มิสเตอร์ เอฟ.เอช.ไยล์ เป็นชนชาติอังกฤษ ชาวเมืองพลีมัธ เริ่มเข้ารับราชการในกระทรวงอาณานิคมมาฝึกงานอยู่ในประเทศอินเดียและเริ่มทำงานอยุ่ในประเทศพม่าตั้งแต่เป็นเสมียนฝึกหัดจน เจ้านายและข้าราชการ ได้เลื่อนเป็นปลัดอำเภอ เป็นผู้ที่มีความรู้ระเบียบแบบแผนของทางราชการ กฎหมาย ตลอกจนงบประมาณการเงินของอังกฤษเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีความรู้ภาษาต่างประเทศทางตะวันออกอีกหลายภาษา
รัฐบาลได้ขอยืมตัว มิสเตอร์ เอฟ.เอช.ไยล์ จากข้าราชการอังกฤษ มาช่วยราชการงานด้านการคลัง ในพ.ศ. 2440 โดยเริ่มเก็บภาษีที่มณฑลปราจีน มิสเตอร์ เอฟ.เอช.ไยล์ ได้ทำงานมีประสิทธิภาพได้ประโยชน์แก่ทางราชการเป็นอย่างมาก ระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่การเดินสำรวจเร่งรัดที่นาที่เมืองปราจีนนั้น ได้พบข้อบกพร่องต่างๆในการจัดเก็บภาษีอากรค่านา จึงได้รายงานให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยทรงทราบพร้อมทั้งวิธีการแก้ไข ต่อมาได้โปรดให้ขยายการเก็บภาษีอากรออกไปยังมณฑลต่างๆ ทุกมณฑล ยกเว้นมณฑลกรุงเทพฯ เมื่อได้ทรงเห็นว่า มิสเตอร์ เอฟ.เอช.ไยล์ มีความรู้ความชำนาญในเรื่องที่ดินและการสรรพากร จึงได้ทรงแต่งตั้งให้ มิสเตอร์ เอฟ.เอช.ไยล์ เป็นเจ้ากรมสรรพากรนอกขึ้นอยู่ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในชั้นต้นมีสำนักงานตั้งอยู่ที่มณฑลปราจีนบุรี ภายหลังมิสเตอร์ เอฟ.เอช.ไยล์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร
ต่อมาปี พ.ศ. 2441 มิสเตอร์ ริเวต คาร์แนค ชนชาติอังกฤษ ตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ทำรายงานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องการสรรพากร มีใจความตอนหนึ่งว่า
"ในประเทศต่างๆรวมทั้งอินเดีย ซึ่งได้จัดการคลังและสรรพากร เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้วนั้น ประเทศเหล่านั้นได้แยกการสรรพากรหรือการเก็บภาษีอากรให้อยู่ในมือของเจ้าพนักงานพวกหนึ่ง และการคลังหรือการเก็บรักษาผลประโยชน์แผ่นดินให้อยู่ในมือของเจ้าพนักงานอีกพวกหนึ่ง เพื่อสำหรับคุ้มกันมิให้เจ้าพนักงานทั้ง 2 พวกนี้รวมเข้ากันได้ เพราะเคยมีตัวอย่างมาแล้วในประเทศอื่นๆ ว่าถ้ารวมเข้าอยู่ในมือของเจ้าพนักงานพวกเดียวกันแล้ว เจ้าพนักงานทั้ง 2 ฝ่ายเคยสมคบกันฉ้อเงิน ผลประโยชน์แผ่นดินอันเป็นการเหลือวิสัยที่รัฐบาลจะป้องกันได้ เพราะมีทาง อาจจะทำทุจริตได้ในวิธีการสำรวจบัญชีซึ่งยากที่จะจับได้ และว่าตามวิธีปกครองของประเทศสยามนั้น เจ้าพนักงานที่เป็นเครื่องมือสำหรับเก็บเงิน ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ผลประโยชน์แผ่นดินทั้งปวง มีเจ้าพนักงานของกระทรวงมหาดไทยอยู่ในท้องที่แล้วคือ เจ้าเมือง อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะฉะนั้นควร แยกการสรรพากรเก็บผลประโยชน์แผ่นดินออกเป็นคนละพวกกับการคลังหรือการรักษาเงิน"
มิสเตอร์ ริเวต คาร์แนค เห็นว่าควรแยกการสรรพากรไปไว้ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้แยกเป็นเจ้าพนักงานพวกหนึ่งต่างหากจากเจ้าพนักงานคลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกกรมสรรพากรนอก มาขึ้นกระทรวงมหาดไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2442
กรมสรรพากรนอก ซึ่งพระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมารเป็นอธิบดีนั้นแบ่งส่วนราชการออกเป็น 6 แผนก คือ แผนกบัญชาการ แผนกตรวจการ แผนกทะเบียน แผนกเงิน แผนกแบบ และแผนกจำหน่ายใบลาน การจัดเก็บภาษีแบ่งเป็นหมวดต่างๆรวม 8 หมวด ดังนี้
ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า กรมสรรพากรซึ่งมีหน้าที่ตรวจตราตักเตือนเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ในการตรวจเก็บภาษีอากร กระทำการบัญชีและรวบรวมเงินผลประโยชน์แผ่นดิน จะรวมอยู่ในกระทรวงอันเสนาบดีมีหน้าที่ปกครอง ยังไม่สู้เหมาะแก่ทางการ ควรมาขึ้นอยู่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติอันเสนาบดีมีหน้าที่ดำริและบัญชาการเงินอยู่แล้ว เพื่อจะได้จัดการตรวจตราและจัดการให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นฉะนั้นจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกกรมสรรพากรใน ซึ่งแต่เดิมขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล และกรมสรรพากรนอกซึ่งเดิมขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยมาขึ้นอยู่ในบังคับบัญชากระทรวงพระคลังมหาสมบัติและให้รวมเข้าเป็นกรมเดียวกันเรียกว่ากรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2458 ดังมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ดังนี้
ประกาศยกกรมสรรพากรนอก มาขึ้นกระทรวงพระคลัง มหาสมบัติ และรวมกับกรมสรรพากรใน เปลี่ยนนามเป็นกรมสรรพากร
มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่า กรมสรรพากรซึ่งมีหน้าที่ตรวจตราตักเตือนเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ในการตรวจตราเก็บภาษีอากร กระทำการบัญชีและรวบรวมเงินประโยชน์แผ่นดินนั้น ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า หน้าที่การเช่นนี้จะรวมอยู่ในกระทรวงอันเสนาบดีมีหน้าที่ปกครอง ยังไม่สู้เหมาะแก่ทางการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมสรรพากรใน ซึ่งแต่เดิมขึ้นในกระทรวงนครบาลมาขึ้นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอันเสนาบดีมีหน้าที่ดำริและบัญชาทางการเงินอยู่แล้วเพื่อจะได้จัดการตรวจตราและจัดการให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น การก็ได้ดำเนินการมาโดยเรียบร้อย สมควรจะรวมสรรพากรนอกมาไว้ในกระทรวงเดียวกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมสรรพากรนอกและข้าราชการในกรมสรรพากรนอกมาขึ้นอยู่ในบังคับบัญชากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
อนึ่ง กรมสรรพากรในและกรมสรรพากรนอกแต่เดิมมาได้ขึ้นอยู่ต่างกระทรวงจึงแยกอยู่เป็นสองกรม บัดนี้ได้ยกมารวมอยู่ในกระทรวงเดียวกันแล้ว สมควรจะรวมเข้าเป็นกรมเดียวได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวมกรมสรรพากรนอกและกรมสรรพากรในเข้าเป็นกรมเดียวกัน ให้เรียกว่า กรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ได้ประกาศนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา ณ วันที่ 2 กันยายน พุทธศักราช 2458 เป็นวันที่ 1757 ในรัชกาลปัจจุบัน
ที่มา :: หนังสือที่ระลึกในการเปิดอาคารกรมสรรพากร 2 กันยายน 2540