คำพิพากษาฎีกาที่4167/2549 | |
ห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองบัวบริการ | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง ใบกำกับภาษีปลอม | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 (5) , 86 , 88/6 (1) (ก) , 88/6 วรรคท้าย , 89 (7) วรรคสอง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17, 25 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (3) | |
โจทก์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2540 ถึงเดือนภาษีเมษายน 2542 แสดงรายการภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย จำเลยสงสัยว่าโจทก์อาจใช้ใบกำกับภาษีซื้อของกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อออกใบกำกับภาษีโดยมิชอบ มาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงออกตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็นพบว่าโจทก์นำใบกำกับภาษีซื้อของบริษัทแสงทวีออยล์ จำกัด บริษัทแสงอรุณออยล์ จำกัด บริษัทแสงฟ้าออยล์ จำกัดบริษัทแสงเงินออยล์ จำกัด และบริษัทแสงทองปิโตรเลียม จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามรายชื่อที่สำนักงานสรรพากรภาค 10 ให้มีการนำพิสูจน์ว่ามีการซื้อขายและชำระราคากันจริงหรือไม่ผลปรากฏว่าโจทก์ไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีเหล่านั้น จึงต้องห้ามมิให้นำมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานจึงประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม และแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 แต่โจทก์อ้างว่าจำเลยประเมินภาษีหลังพ้นกำหนดเวลาการประเมินแล้ว ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายอัษฎางค์ ศรีศุภรพันธ์สรรพากรภาค 10 เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ขยายกำหนดเวลาตรวจสอบภาษีในกรณีที่จะประเมินภาษีเกินกำหนดเวลา 2 ปี ตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร เอกสารการมอบหมายจากอธิบดีแม้เป็นสำเนา แต่เมื่อต้นฉบับอยู่ในอารักขาของทางราชการ สำเนาเอกสารที่เจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้องจึงรับฟังได้ ตามมาตรา 93 (3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 กรณีของโจทก์ สรรพากรจังหวัดหนองบัวลำภู ขออนุมัติขยายกำหนดเวลาประเมิน นายอัษฎางค์ฯ ก็ได้อนุมัติตามที่ขอเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 จึงฟังได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินได้รับอนุมัติให้ประเมินภาษีหลังครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี ดังกล่าวโดยชอบแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานประเมินประเมินให้โจทก์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีกันยายน-พฤศจิกายน 2540 เดือนภาษีกุมภาพันธ์ สิงหาคม ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม 2541 เดือนภาษีมกราคม และกุมภาพันธ์ 2542 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 จึงยังอยู่ภายใน 5 ปี การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 88/6 วรรคท้ายของจำเลยจึงชอบแล้ว ประเด็นที่สองมีว่า การประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องหรือไม่ นาย ศุภชัย คัทธมารศรี หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์เบิกความว่า เดิมโจทก์ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากห้างหุ้นส่วนจำกัดคูณเจริญบริการ ต่อมานาย สุรชัย เพิ่มวนิชกุล หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดคูณเจริญบริการแนะนำให้ซื้อจากกลุ่มบริษัทของนายชัยรัตน์ ลาภทรงสุขซึ่งมีราคาถูกกว่าทั้งยังจัดส่งถึงหน้างาน โจทก์จึงซื้อจากกลุ่มบริษัทฯ ดังกล่าวตลอดมาโดยชำระด้วยเงินสดที่หน้าคลังน้ำมันที่คลองเตยและบริษัทฯ ดังกล่าวออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีให้โจทก์ทุกครั้ง ส่วนจำเลยมี เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี ซึ่งทำหน้าที่ตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นพยานเบิกความว่า จากการตรวจสอบพบใบกำกับภาษีซื้อในกลุ่มผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง จึงแจ้งให้โจทก์นำพิสูจน์ว่ามีการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงตามใบกำกับภาษีกันจริงและได้นำไปใช้ในงานลักษณะใด แต่โจทก์แจ้งว่าไม่มีหลักฐานการรับเงินและการสั่งซื้อทางโทรศัพท์ต่อมา นายศุภชัยฯ ให้ถ้อยคำยืนยันว่าส่วนใหญ่ซื้อน้ำมันจากห้างฯ และชำระด้วยเงินสดแต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจพบว่าโจทก์นำใบกำกับภาษีซื้อจากกลุ่มของนายชัยรัตน์ฯ มาใช้ นายศุภชัยฯ จึงให้การใหม่ว่าซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากกลุ่มของนายชัยรัตน์ฯ ผ่านห้างฯ อีกทอดหนึ่ง โดยชำระค่าน้ำมันฯ และค่าขนส่งแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดคูณเจริญบริการ แล้วห้างหุ้นส่วนจำกัดคูณเจริญบริการ จะนำค่าน้ำมัน ส่งให้แก่กลุ่มผู้ค้าน้ำมันฯ โดยกลุ่มผู้ค้าน้ำมันจะออกใบกำกับภาษีให้ตามที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด คูณเจริญบริการแจ้งให้ออก ส่วนนายชัยรัตน์ฯ ให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยว่า ขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้โจทก์ผ่านห้างฯ โดยห้างฯ จะนำค่าน้ำมันเชื้อเพลิงส่งให้กลุ่มบริษัท ของนายชัยรัตน์ฯ และกลุ่มบริษัทของนายชัยรัตน์ฯ จะออกใบกำกับภาษีให้ตามที่ห้างฯ แจ้งให้ออก เห็นว่าคำเบิกความของนายศุภชัยฯ และนายชัยรัตน์ฯ ในชั้นพิจารณาขัดกับคำให้การในชั้นไต่สวนตรวจสอบทั้งยังขัดต่อเหตุผล เพราะไม่มีเหตุผลใดที่นายสุรชัยฯ จะยอมสละผลประโยชน์ทางธุรกิจ ที่ควรตกได้แก่ตนโดยการแนะนำให้โจทก์ไปซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากกลุ่มบริษัทของนายชัยรัตน์ฯ แทน คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ซื้อน้ำมันฯ จากห้างฯ มิใช่ซื้อจากกลุ่มบริษัทผู้ค้าน้ำมันฯ จึงไม่อาจออกใบกำกับภาษีให้แก่โจทก์แทนห้างฯ เมื่อมีการออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบ จึงไม่อาจนำมาหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 (5) และ86 แห่งประมวลรัษฎากรได้ ปัญหาข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ควรงดหรือลด เบี้ยปรับให้แก่โจทก์หรือไม่ จากข้อเท็จจริง แม้โจทก์จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวน แต่ตามพฤติการณ์ของโจทก์ที่นำใบกำกับภาษีซื้อมาใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือหนึ่งในสามของเบี้ยปรับตามกฎหมายถือเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้ว ไม่มีเหตุอันควรงดหรือลดเบี้ยปรับลงอีก อุทธรณ์ทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น |