เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่6341/2549 
บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3 มาตรา 82/4 มาตรา 83 มาตรา 83/6 มาตรา 89/4

มาตรา 82/3 มาตรา 82/4 มาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากรใช้เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ที่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น และมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนภาษีพร้อมกับชำระภาษีถ้ามี ภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อผู้ประกอบการนั้นต้องชำระภาษีเท่ากับส่วนต่าง หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ให้เป็นเครดิตภาษีและผู้ประกอบการนั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษีหรือนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ส่วนผู้ประกอบการที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ จึงไม่มีภาษีขาย ขณะเดียวกันภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียไปหรือที่มีหน้าที่นำส่งก็ไม่ถือเป็นภาษีซื้อของผู้ประกอบการนั้นเช่นกัน ผู้ประกอบการที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่อาจใช้วีธีคำนวณภาษีโดยการนำภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อดังเช่นผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มโดยสมบูรณ์ ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงนำมาเป็นภาษีซื้อเพื่อคำนวณหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีในภายหลัง เมื่อผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วไม่ได้ การที่โจทก์จ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งได้ให้บริการในต่างประเทศ และมีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2543 โจทก์จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายค่าบริการ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีหน้าที่นำส่งนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ 17 สิงหาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้โจทก์จะนำส่งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2546 หลังจากวันที่โจทก์ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ก็ไม่ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเป็นภาษีซื้อซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะมีสิทธินำมาหักจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีได้ ฉะนั้น โจทก์จึงนำภาษีซื้อจำนวน 4,287,101.76 บาท ที่โจทก์นำส่งในวันที่ 7 มีนาคม 2546 มาเป็นภาษีซื้อของเดือนภาษีมีนาคม 2546 ไม่ได้ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมีนาคม 2546 ของโจทก์จึงแสดงภาษีคลาดเคลื่อนเกินไป 4,287,101.76 บาท โจทก์จึงต้องเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไปตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร และการที่เจ้าพนักงานประเมินลดเบี้ยปรับให้คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย และคณะกรรมการอุทธรณ์เห็นด้วยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะลดให้มากกว่านี้การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021