เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่443/2549 
บริษัททีเอ็นวีเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง การอุทธรณ์การประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) มาตรา 34

พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 3 มาตรา 37

โจทก์อ้างว่า จำเลยประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ตามคำฟ้องไม่ถูกต้อง โจทก์จึงอุทธรณ์ การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของดหรือลดเบี้ยปรับ คณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้โต้แย้งการประเมิน การประเมินจึงชอบแล้ว แต่เห็นว่า ในชั้นตรวจสอบ เจ้าพนักงานยังไม่ได้ปรับปรุงเครดิตภาษีที่เหลืออยู่จริงให้ถูกต้อง จึงปรับปรุงเครดิตภาษีใหม่ โจทก์เห็นว่า การปรับปรุงเครดิตภาษีไม่ถูกต้องจึงฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยปรับปรุงเครดิตภาษีใหม่ก่อนทำการประเมิน ตามคำฟ้องดังกล่าวโจทก์ เพียงกล่าวอ้างว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ปรับปรุงเครดิตภาษีที่เหลือไม่ถูกต้อง ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้าน ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เกี่ยวกับการประเมินไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ซึ่งการปรับปรุงเครดิตภาษีให้โจทก์ใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ได้นำเงินได้อื่นมาคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษี มิใช่การประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มในประเด็นข้ออื่นหรือใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษี คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจทำได้ ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ปรับปรุงเครดิตภาษีที่เหลืออยู่แล้ว โจทก์เห็นว่า ไม่ถูกต้องก็ย่อมฟ้องต่อศาลได้ไม่อยู่ในบังคับ ตามมาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เหตุผลแต่เพียงว่า ผู้อุทธรณ์ ไม่ได้โต้แย้งการประเมิน การประเมินถูกต้องแล้ว และฉบับที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ปรับปรุงเครดิตภาษีก็ให้เหตุผลว่า แต่เนื่องจากในชั้นตรวจสอบเจ้าพนักงานยังไม่ได้ปรับปรุงเครดิตภาษีที่เหลืออยู่จริงให้ถูกต้องตามคำสั่งกรมสรรพากร จึงปรับปรุงเครดิตภาษีใหม่ เป็นผลให้ภาษีตามการ ประเมินเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นบ้าง ลดลงบ้าง ส่วนกรณีเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (7) ยังไม่มีเหตุผลอัน ควรผ่อนผันให้งดหรือลดให้ตามที่ร้องขอ เงินเพิ่มตามการประเมินไม่อาจพิจารณางดหรือลดให้ได้ จะเห็นได้ว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจึงต้องทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ คือจะต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย ทั้งเหตุผล ในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ เหตุผลในข้อกฎหมายที่อ้างอิงและเหตุผลในข้อพิจารณาและข้อ สนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ

แต่ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้น ไม่ปรากฏเหตุผลตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้ง ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจัดให้เหตุผลตามมาตรา 37 วรรคสาม ของ พ.ร.บ. ฉบับ ดังกล่าว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จึงขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา 37 โดยชัดแจ้ง ย่อมเป็นการไม่ชอบ แม้ มาตรา 34 แห่งประมวลรัษฎากร จะบัญญัติว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้ทำเป็นหนังสือและให้ส่งไปยังผู้อุทธรณ์ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ บัญญัติวิธีการทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีอากรไว้โดยเฉพาะ โดยมิได้บังคับว่า ต้องจัดให้มีเหตุผล และการทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์จะได้กระทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร เป็นการเฉพาะก็ตาม แต่มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ บัญญัติว่า วิธีปฏิบัติราชการปกครอง ตามกฎหมายต่างๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.นี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ และมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน พ.ร.บ.นี้ เมื่อคำสั่งทางปกครองตามที่บัญญัติ ไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ทำเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย แต่คำวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม มาตรา 34 แห่งประมวล รัษฎากร มิได้ระบุว่าต้องจัดให้มีเหตุผล บทบัญญัติตามมาตรา 34 แห่ง ประมวลรัษฎากร จึงมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการต่ำกว่า เกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ขั้นต่ำแล้ว ต้องใช้หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองแทน ดังนั้น คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ไม่ อาจใช้บังคับได้.

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021