เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่7517/2549 
กรมสรรพากร โจทก์

นาง วัชรี วรรักษ์กุล กับพวก

จำเลย
เรื่อง ไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2)

จำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 108881 ถึง 108883 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร มาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2533 ในราคา 7,336,000.- บาท ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวให้แก่นาย อรุณ เต็มสินวาณิช ระบุราคาตามสัญญาซื้อขายที่ดิน 23,000,000 บาท แต่ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในราคา 57,500,000 บาท เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบแล้วมีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินและอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่ไม่ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอทุเลาการชำระภาษีอากรค้าง โดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จำนองที่ดินของตนไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ค่าภาษีของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 ( 2 ) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ปัญหาข้อโต้แย้งของจำเลยที่ 1 ที่ได้หยิบยกขึ้นโต้แย้งการประเมินย่อมเป็นอันยุติลงตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยทั้งสามจะนำข้อโต้แย้งที่ยุติแล้วนั้นขึ้นมาให้การต่อสู้คดีโจทก์ว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบไม่ได้ และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์เป็นประเด็นพิพาทขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามมาตรา 142(5) และมาตรา 246 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบกับมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากร พ.ศ. 2528

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021