คำพิพากษาฎีกาที่5960/2549 | |
นายอเนก อารีพรรค กับพวก | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง เงินได้พึงประเมิน | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (2) และมาตรา 40 (6) | |
โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายรับราชการที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเงินได้ประเภทเงินเดือนจากคณะแพทย์ศาสตร์ และมีเงินได้จากการประกอบโรคศิลปะนอกเวลาราชการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชนอื่นอีก การที่โจทก์ ทั้งสองนำเงินได้จากการประกอบโรคศิลปะนอกเวลาราชการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชนอื่นไปยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากโจทก์ทั้งสองไม่สามารถนำสืบได้ว่าผู้ป่วยที่มารับการรักษาจากโจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้ป่วยของโรงพยาบาล แต่เป็นผู้ป่วยที่ได้นัดหมายมาตรวจกับแพทย์โดยตรงและใช้สถานที่ของโรงพยาบาลเป็นสถานที่ในการนัดหมายตรวจรักษา และโจทก์ทั้งสองยอมรับว่าคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชนอื่น เป็นผู้เก็บเงินและออกใบเสร็จรับเงินในนามของคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชนอื่น ไม่ได้ออกในนามของโจทก์ทั้งสอง ยิ่งกว่านั้นก่อนที่คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาล หรือคลินิกเอกชนอื่น จะจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองก็ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ในการปฏิบัติงานที่คลินิกพิเศษฯ ซึ่งรูปแบบของการประกอบวิชาชีพไม่แตกต่างกับการที่แพทย์ไปตกลงทำสัญญาว่าจ้างแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนหรือแพทย์เวรต่างกันแค่เพียงจ่ายเงินค่าตอบแทนแพทย์จากส่วนใดเท่านั้น และเมื่อพิจารณาถึงจำนวนค่าใช้จ่ายโจทก์ทั้งสองก็ไม่สามารถนำสืบพิสูจน์ได้ว่า การประกอบโรคศิลปะของโจทก์ทั้งสองที่คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการฯ มีค่าใช้จ่ายมากเพียงใดที่จะแสดงว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบวิชาชีพอิสระอันจะถือว่ารายได้ของโจทก์ทั้งสองเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งสูงกว่ากรณีเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ดังนั้น เงินได้พึงประเมินของโจทก์ทั้งสองจึงเข้าลักษณะเป็นค่าจ้างซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว |