เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1495/2549 
บริษัททีทียูอุตสาหกรรม จำกัด โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง ภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 87,88/3

ประเด็นที่ 1 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไปที่โรงงานของโจทก์ โดยแสดงบัตรประจำตัวข้าราชการและหนังสือแนะนำตัว แต่วันดังกล่าวเกิดเพลิงไหม้ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานของโจทก์ ทำให้มีกลุ่มควันทึบหน้า จึงไม่ได้ทำการตรวจนับสินค้าในวันดังกล่าว กับแจ้งให้ทราบว่าจะมาทำการตรวจนับสินค้าใหม่ในวันรุ่งขึ้น และนางสาว พ. ได้แจ้งให้นาย ส. กรรมการของโจทก์ทราบ จึงเป็นการทำการตามอำนาจหน้าที่และได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ก็ถือไม่ได้ว่าการตรวจปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยเจตนากลั่นแกล้งหรือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่ 2 การตรวจนับสินค้าของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสินค้าที่อยู่ในลังแต่ละใบออกมาตรวจนับทั้งหมด แต่ให้นาย ท. กับนาย ส. พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าในขั้นตอนสุดท้ายและการเก็บสินค้าขานรายละเอียดเกี่ยวกับรหัส ชนิด ขนาด และจำนวนสินค้าที่ปรากฎบนป้ายสต๊อกการ์ดซึ่งติดอยู่ที่ลังแต่ใบนั้นให้ นางสาว ร. พยานจำเลยทั้งห้ากับพวกเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จดบันทึกไว้ การสุ่มตรวจนับสินค้า ปรากฎว่า รหัส ชนิด ขนาดและจำนวนสินค้าตรงกับรายละเอียดที่ระบุในป้ายสต็อกการ์ดซึ่งติดอยู่ที่ลัง วิธีการตรวจนับสินค้าของนางสาว ร. พยานจำเลยทั้งห้ากับพวก จึงนับได้ว่าเป็นการตรวจนับสินค้าที่ชอบด้วยเหตุผล อีกทั้งได้ทำรายงานการตรวจสินค้าและวัตถุดิบให้นาย ท. พยานโจทก์ลงชื่อไว้

ประเด็นที่ 3 สินค้าของโจทก์ขาดจากบัญชีตามการตรวจนับของเจ้าหน้าที่ ตามกระดาษทำการตรวจนับสินค้าสำเร็จรูประบุว่าประเภทสินค้า 90 SR STD 6 สินค้าขาด แต่มีประเภทสินค้า 90 STD SR 6 สินค้าเกิน แม้ตัวอักษรประเภทสินค้าจะต่างกัน แต่ตัวเลขที่ใช้ประกอบในการระบุประเภทสินค้าเหมือนกับราคาต่อหน่วยก็ระบุเท่ากัน น่าเชื่อว่าเป็นสินค้าตัวเดียวกันแต่เขียนตัวอักษรสลับที่กัน จึงต้องนำมูลค่าสินค้าสองรายการนี้มาหักกลบกัน เมื่อรายการทั้งสองเป็นสินค้าตัวเดียวกันและสินค้าตามการตรวจนับมีมากกว่าสินค้าตามรายงาน ก็ถือไม่ได้ว่า มีมูลค่าสินค้าขาดตามที่ประเมิน.

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021