คำพิพากษาฎีกาที่4970/2549 | |
บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1(10) 81(1)(ต) | |
โจทก์ทำสัญญาเช่าอาคารกับบริษัทในเครือ แบ่งพื้นที่อาคารให้บริษัทในเครือเช่าเป็น ที่ตั้งสำนักงานและสถานประกอบการ ใช้อุปกรณ์ที่รื้อถอนได้กั้นเป็นฝาผนังและแนวเขตพื้นที่และ โจทก์ทำสัญญาให้บริการและอำนวยความสะดวกกับบริษัทในเครือ รับผิดชอบจัดระบบความเย็นในบริเวณที่ให้เช่าตามกำหนดเวลา และให้ใช้บริการส่วนกลางอื่นๆ โดยแยกเป็นสัญญาต่างหากจากกันและคิดค่าเช่ากับค่าตอบแทนการให้บริการและอำนวยความสะดวกแยกต่างหากจากกันด้วย ในส่วนค่าตอบแทนตามสัญญาให้บริการและอำนวยความสะดวก โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว มีปัญหาว่าสัญญาเช่าอาคารเป็นสัญญาให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81(1)(ต) ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเป็นการให้บริการ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1(10) ซึ่งผู้ประกอบการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สัญญาเช่าอาคารมีแผนผังแบบแปลนกำหนดตัวอาคารและพื้นที่เช่าไว้อย่างแน่นอน ชัดเจน กำหนดสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา อัตราค่าเช่า ระยะเวลาชำระค่าเช่า ระยะเวลาการเช่าไว้ชัดเจน มีข้อห้ามผู้เช่านำทรัพย์สินที่เช่าไปให้ผู้อื่นใช้ หรือแบ่งการครอบครองสถานที่เช่าแก่ผู้อื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ข้อกำหนดที่ผู้ให้เช่าหรือผู้แทนจะเข้าตรวจสถานที่เช่าจะต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้าก่อน และมีกำหนดวันและเวลาใช้อาคารสถานที่ ระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์เวลา 7 ถึง 18 นาฬิกาไว้ด้วย สำหรับข้อสัญญาที่มีกำหนดวันและเวลาใช้อาคารสถานที่นั้นก็เป็นข้อสัญญาที่ระบุอยู่ใน สัญญาให้บริการและอำนวยความสะดวก ซึ่งมีข้อสัญญาเปิดช่องให้ผู้เช่าสามารถใช้พื้นที่เช่า นอกเหนือจากช่วงเวลาดังกล่าวตามความจำเป็นของผู้เช่าได้ โดยเพียงแต่แจ้งผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าเท่านั้น ข้อสัญญานี้แสดงว่าผู้ให้เช่าตกลงยอมให้ผู้เช่ามีสิทธิครอบครองพื้นที่เช่าของตนตลอดทั้งวัน และมีอิสระในการใช้ทรัพย์สินที่เช่าได้เต็มที่เยี่ยงสิทธิของผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ สำหรับระเบียบปฏิบัติที่กำหนดว่าผู้เช่า ต้องบอกกล่าวแก่พนักงานของผู้ให้เช่าให้มาเปิดและปิดอาคารสถานที่และดูแลให้ความสะดวกในส่วนของบริการ โดยเสียค่าบริการเพิ่มจากเวลาปกตินั้น เป็นการกำหนดเพื่อความสะดวกแก่การใช้อาคารในพื้นที่เช่าตามที่ผู้ให้เช่ามีภาระต้องจัดพนักงานมาคอยให้บริการตามสัญญาให้บริการและ อำนวยความสะดวกที่ทำขึ้นต่างหากจากสัญญาเช่าอาคารเท่านั้น ตามพฤติการณ์สัญญาเช่าอาคาร ระหว่างโจทก์กับบริษัทใน เครือ เป็นสัญญาที่ตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือรับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด ต้องตามหลักเกณฑ์ในลักษณะการเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 จึงเป็นการที่โจทก์ให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81(1) (ต) ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการ |