เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่651/2549 
กรมศุลกากร ที่ 1 กรมสรรพากร ที่ 2 โจทก์

บริษัท สยามโซลเว้นท์ จำกัด

จำเลย
เรื่อง การส่งหนังสือแจ้งการประเมินและการอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8

พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ส่งแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า แก่จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังสำนักงานของจำเลย และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นผู้รับแทนจำเลยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2544 การที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยินยอมรับไปรษณีย์ภัณฑ์ตามใบตอบรับของการสื่อสารแห่งประเทศไทยโดยไม่โต้แย้งคัดค้าน จึงไม่อาจรับฟังเป็นอย่างอื่นนอกจากต้องรับฟังว่า จำเลยอยู่ในสถานที่นั้นและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในสถานที่นั้นและยินยอมรับไปรษณียภัณฑ์นั้นแทนจำเลย จึงถือว่าจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าดังกล่าวแล้ว หาจำต้องส่งให้กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยเป็นผู้รับด้วยตนเองไม่

มาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป บัญญัติว่า “ ผู้นำของเข้าหรือส่งออกของ มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน... ” และมาตรา 112 อัฏฐารส ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยบทกฎหมายเดียวกันและมีผลใช้บังคับพร้อมกับมาตรา 112 ฉ บัญญัติว่า “ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยฟ้องเป็นคดีต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์... ” อากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มรายพิพาทจึงเป็นกรณีที่พระราชบัญญัติศุลกากรซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้คัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อจำเลยไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 112 ฉ จำเลยย่อมไม่มีอำนาจ ฟ้องคดีต่อศาล ตามมาตรา 7(1) และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 และมีผลให้จำเลยไม่มีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในกรณีถูกฟ้องเป็นคดีด้วย

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021