เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1144/2549 
บริษัท ไร้ซ์เอ็นจิเนียริ่งซัพพลาย จำกัดโจทก์

กรมสรรพากร กับพวก

จำเลย
เรื่อง สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่มีเงื่อนไข
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 309) พ.ศ. 2540 มาตรา 4

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0

สัญญาซื้อขายที่โจทก์ทำกับบริษัท แอคมี่คอนสตรัคชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540 ซึ่งมี รายละเอียดของสัญญาว่า ผู้ขายตกลงขายและผู้ซื้อตกลงซื้อขายเครื่องจักรเพื่อใช้งานในโรงคัดเมล็ดพันธ์ ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 มีเงื่อนไขการชำระเงินเป็น 4 งวด งวดที่ 1 ชำระเมื่อตกลงซื้อ งวด ที่ 2 ชำระเมื่อส่งเครื่องจักรหลักถึงโรงสี งวดที่ 3 ชำระเมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อย และงวดที่ 4 ชำระเมื่อทดสอบเครื่องจนใช้งานได้ดี และสัญญาข้อ 4 ระบุว่า เครื่องจักรเหล่านี้จะถือเป็นกรรมสิทธิ์ผู้ขายจนกว่าจะมีการส่งมอบงานทั้งหมด นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 7 ยังระบุความรับผิดชอบของผู้ขายไว้ 5 ประการ คือ ออกแบบระบบโรงคัดเมล็ดพันธุ์ให้ทั้งหมด ติดตั้งเครื่องจักรทั้งหมดตามรายระเอียดในใบเสนอราคา ติดตั้งระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักรที่ขายให้ทั้งหมด ทดสอบเครื่องจนใช้งานได้ดี และฝึกสอนเจ้าหน้าที่ของผู้ซื้อให้ใช้งานเป็น จากเงื่อนไขในสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่านอกจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องส่งมอบเครื่องจักรและติดตั้งให้แก่ผู้ซื้อภายในกำหนดแล้วโจทก์ยังต้องออกแบบระบบโรงคัดเมล็ดพันธุ์และติดตั้งระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักรทั้งหมดตลอดจนทดสอบเครื่องจักรให้ใช้งานได้ดีด้วย จึงได้มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ในสัญญาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของเครื่องจักรไว้ว่า ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อทันทีที่ส่งมอบจนกว่าจะมีการส่งมอบงานทั้งหมด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่มีเงื่อนไขว่า กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อทันทีเมื่อได้มีการส่งมอบสินค้าตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม 2540 ส่วนสัญญาซื้อขายที่โจทก์ทำกับบริษัท โรงงานผลิตอาหารไทย จำกัด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 ก็มีการระบุไว้ในสัญญาทำนองเดียวกับสัญญาซื้อขายที่โจทก์ทำกับบริษัท แอคมี่คอนสตรัคชั่น จำกัด สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิในสินค้าโอนไปยังผู้ซื้อทันทีเมื่อได้ส่งมอบเช่นเดียวกับสัญญาซื้อขายที่โจทก์ทำกับ บริษัท แอคมี่คอนสตรัคชั่น จำกัด สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ทำสัญญาและมีการผ่อนชำระตามสัญญาก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2540 โจทก์จึงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2540 ข้อ 1 (2)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021