คำพิพากษาฎีกาที่653-655/2549 | |
กรมสรรพากร | โจทก์ |
นาย ปราโมทย์ บันสิทธิ์ | จำเลย |
เรื่อง การปิดหมาย การบังคับคดี | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 8, 12, 32, 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79, 226, 247, 249, 271 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (4), 8 (9) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14, 24, 26, 28 | |
จำเลยโต้แย้งว่า ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม , 33 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 8 (4) (9) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ ขอให้ศาลล้มละลายกลางส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 264 การที่ศาลล้มละลายกลางสั่งในคำร้องของจำเลยเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226, 247 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 28 จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้มาใช้บังคับ อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะอุทธรณ์ได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคสอง ( 1) ถึง ( 5) คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ทั้งไม่มีกรณีจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามมาตรา 26 วรรคสี่ จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณา ปัญหาที่ว่าหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 หรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้น จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 28 จำเลยอุทธรณ์การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยโดยวิธีปิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2539 ซึ่งถือว่าจำเลยได้รับแล้วในวันปิดนั้นเองตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และวรรคสาม จำเลยมิได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อโต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงเด็ดขาดและเป็นหนี้ภาษีอากรค้างตามกฎหมาย ระยะเวลาที่โจทก์มีอำนาจใช้วิธีการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยผู้ค้างชำระหนี้ภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 271 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 เริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันที่จำเลยได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์คือวันที่ 23 มีนาคม 2539 นับถึงวันฟ้องคดีนี้คือวันที่ 21 มีนาคม 2546 ยังไม่พ้น 10 ปี หนี้ตามฟ้องไม่ใช่หนี้ที่โจทก์หมดสิทธิบังคับคดี เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ปิดหมายเรียก ณ ที่อยู่หรือสำนักงานของจำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และถือว่าจำเลยได้รับหมายโดยชอบแล้วตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงไม่นำหลักการนับระยะเวลาปิดหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง มาใช้บังคับ เจ้าพนักงานของโจทก์ปิดหมายเรียกวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 หมายเรียกกำหนดให้จำเลยไปพบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2538 เป็นการให้เวลาจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 32 แล้ว. |