เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2579/2550 
ห้างหุ้นส่วนจำกัด กุหลาบขาว โจทก์

กรมสรรพากร กับพวก

จำเลย
เรื่อง การประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 88/6

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 20

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37

โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมีนาคม เมษายน กรกฎาคม สิงหาคม พฤศจิกายน และธันวาคม 2543 รวมเป็นเงิน 1,048,188 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการซื้อขายสินค้าและชำระสินค้ากันจริง จึงไม่สามารถนำภาษีซื้อมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ กรณีไม่มีเหตุอันควรผ่อนผันหรืองดเบี้ยปรับให้ยกอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาคดีโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานในวันชี้สองสถาน

ศาลวินิจฉัยว่า ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางโดยอนุมัติประธานศาลฎีกาออกข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลภาษีอากรได้เพื่อต้องการให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วและเที่ยงธรรม และตามข้อ 15 ของข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ระบุว่า ในกรณีที่มีการชี้สองสถาน เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจำนง ที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใด หรือคำเบิกความของพยานคนใดหรือมีความจำนงที่จะให้ศาลตรวจสอบบุคคล วัตถุ สถานที่ หรืออ้างอิง ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้งเพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุน ข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าสามสิบวันซึ่งบัญชีระบุพยาน ถ้าคู่ความมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ คู่ความดังกล่าวนั้นอาจยื่นคำร้องพร้อมทั้งบัญชีระบุพยานและสำเนาในจำนวนที่เพียงพอไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาคดี ขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้น และถ้าศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง คดีนี้ศาลภาษีอากรกลางนัดชี้สองสถานวันที่ 24 มกราคม 2548 เจ้าพนักงานศาลนำหมายนัดชี้สองสถานไปส่งให้ทนายโจทก์วันที่ 27 ตุลาคม 2547 แต่ไม่พบ จึงปิดหมายไว้ตามคำสั่งศาล ถือว่าโจทก์ได้ทราบวันนัดชี้สองสถานโดยชอบแล้ว โจทก์จะต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันนัดชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่โจทก์เพิ่งยื่นบัญชีระบุพยานในวันที่ 24 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นวันนัดชี้สองสถานโดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยาน จึงเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานที่เกินกำหนดเวลา ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานของโจทก์ จึงชอบด้วยข้อกำหนดคดีภาษีอากรแล้ว การที่โจทก์อ้างว่ายื่นคำร้องลงวันที่ 6 สิงหาคม 2547 พร้อมคำร้องขอขยายเวลายื่นคำฟ้องขอให้ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารจำนวน 8 ฉบับ ถือเป็นการยื่นบัญชีระบุพยาน เห็นว่าบัญชีระบุพยานกับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารเป็นคนละส่วนกัน ทั้งตามข้อ 17 ของข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2547 กำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเอกสารจากผู้ครอบครองต้องยื่นคำขอพร้อมกับบัญชีระบุพยาน ดังนั้น การยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารของโจทก์จึงไม่อาจถือเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานได้ เมื่อคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานของศาลภาษีอากรกลางชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางที่ให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้ง 5 จึงชอบด้วยกฎหมายด้วย เพราะเมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธินำพยานมาสืบ เมื่อศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าคดีวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้ง 5 ศาลภาษีอากรกลางก็มีอำนาจงดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้ง 5 ได้

เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่าโจทก์นำใบกำกับภาษีซื้อมาใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิชอบ จึงเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และเจ้าพนักงานประเมินได้ขออนุมัติประเมินภาษีโจทก์ตามแบบขออนุมัติใช้อำนาจ การประเมินตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร แม้การอนุมัติให้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 และการแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2546 จะเป็นเวลาภายหลังจากครบกำหนด 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลา ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์สำหรับเดือนภาษีดังกล่าว แต่เมื่อยังอยู่ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันดังกล่าว จึงเป็นการประเมินโดยชอบและอำนาจทำการประเมินภาษีอากรเป็นของเจ้าพนักงานประเมินโดยตรงไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจให้ประเมินเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมสรรพากรอีก หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มได้ระบุถึงอำนาจตามกฎหมายที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ในการประเมินภาษีโจทก์กับระบุ ยอดขายและภาษีขาย ยอดซื้อและภาษีซื้อ ภาษีที่โจทก์ที่โจทก์ชำระตามแบบแสดงรายการที่ยื่นไว้ เปรียบเทียบกับที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบ และจำนวนภาษีที่โจทก์ต้องชำระเพิ่ม และได้ระบุถึงสาเหตุในการประเมินไว้แล้วว่าโจทก์นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ในการเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มมูลค่าสินค้า 383,922 บาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 26,874.54 บาท ส่วนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ให้เหตุผลไว้แล้วครบถ้วน ทั้งข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ หนังสือ แจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021