เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่4854/2550 
นายประวิทย์ สินประสงค โจทก์

กรมสรรพากร

จำเลย
เรื่อง โอนที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) 91/2(6)

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (6)

ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 91/4 การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักรให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ... ( 6 ) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาด้วยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ เฉพาะที่ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งในขณะที่โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6218 21989 และ21995 แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสองคนนั้น พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ( ฉบับที่ 244 ) พ.ศ. 2534 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 3 บัญญัติว่า ให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือ หากำไรตามมาตรา 91/2 ( 6 ) แห่งประมวลรัษฎากร มีดังต่อไปนี้ (1)... ( 6 ) “ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม ( 1) (2) (3) (4) หรือ ( 5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่ ……” บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม ( 1) (2) (3) (4) หรือ ( 5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็มิใช่ว่าจะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) เสมอไป หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป

แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า การที่โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสองโดยเสน่หาและไม่มีค่าตอบแทน จะถือว่าเป็นการขายตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร และโจทก์ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อโจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน การโอนที่ดินดังกล่าว จึงไม่มีลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ.

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021